|

‘ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ’ ศัลยแพทย์ ม.อ. ทุ่มกาย – ใจ ช่วยผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ภาคใต้

IMG_0665

ถ้าทำด้วยความถูกต้อง ทำด้วยความจริงใจ และทำด้วยความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ อย่างไรก็ตามเราจะอยู่รอดปลอดภัยเสมอคติในการทำงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ อาจารย์แพทย์หน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“สมิหลา ไทมส์” มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ อาจารย์แพทย์หน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่นอกจากจะเป็นอาจารย์หมอสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำงานด้านบริหาร และเป็นศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์แล้ว คุณหมอยังเป็นผู้ริเริ่มรณรงค์เรื่องการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีการจัดโครงการตรวจคัดกรอง รักษา และแนะนำการดูแลผู้ป่วยในด้านต่างๆ พร้อมระดมทุนเข้ากองทุนมะเร็งลำไส้และพันธุกรรม ภายใต้มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ให้ผู้ป่วยรักษาฟรี และได้ลงพื้นที่ไปหาผู้ป่วยในจังหวัดภาคใต้ด้วยตัวเองอีกด้วย

ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ว่า เริ่มทำโครงการนี้ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว สืบเนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีงบประมาณในเรื่องของการส่งเสริมและป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ให้ประชาชน โดยช่วงแรกๆ ของการริเริ่มโครงการฯ ได้มีการจัดคอนเสิร์ตเพื่อระดมทุนเข้ากองทุนมะเร็งลำไส้และพันธุกรรม ภายใต้มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เลยทำให้มีทุนตั้งต้นโครงการฯ จากนั้นพยายามหางบเข้ากองทุนฯ อย่างต่อเนื่อง และได้ลงพื้นที่คัดกรอง ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

“ตั้งแต่ได้ลงพื้นที่มาผลตอบรับดีมาก จากบางครอบครัวที่รู้ว่าตนเองเป็นโรคฯ แต่ไม่กล้ารับการตรวจรักษา จนเวลาผ่านไป กลายเป็นระยะสุดท้าย จนเข้ามารับการรักษา จึงทำให้ผู้ป่วยที่เหลือเห็นความสำคัญ และเข้ามาตรวจคัดรองกันเป็นจำนวนมาก ถือว่าโครงการฯ ประสบความสำเร็จ เราได้ทำหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม เพราะมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ในการเป็นแหล่งความรู้ให้ชุมชน และเมื่อได้ทำแล้วสามารถทำให้องค์กร หรือแม้แต่โรงพยาบาลต่างๆ ปฏิบัติตามไปด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น เราแค่หวังอยากให้ประชาชนได้รับรู้ว่าโรคมะเร็งลำไส้มีอยู่จริง สามารถป้องกันได้ด้วยการส่องกล้อง และสามารถป้องกันได้ดีที่สุด”

IMG_0642

ผศ.นพ.วรวิทย์ พูดถึงหลักการในการทำงาน ว่า ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งนอกและในโรงพยาบาลเป็นหลัก พยายามทำให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ ไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้จะไม่ใช่หน้าที่ของแพทย์สะทีเดียว แต่มองว่าโรคมะเร็งลำไส้นั้นเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ จึงมีการบูรณาการในการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และลงพื้นที่เพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้อย่างต่อเนื่อง

“ในการลงพื้นที่เพื่อตรวจคัดกรอง และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนนั้น ทางโรงพยาบาลมีทั้งทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ นักโภชนาการ และหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยลงพื้นที่เป็นทีม รวมทั้งมีการประสานงานในเรื่องของสิทธ์ในการรักษา รักษาฟรีทั้งหมด เพราะทางทีมมีกองทุนฯ เพื่อจะให้ผู้ป่วยได้รับการส่องกล้องฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเรารู้ว่าผู้ป่วยมีความทุกข์ จึงอยากให้การรักษาไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้ามารักษากับโรงพยาบาลอย่างสบายใจ”

IMG_0645

ผศ.นพ.วรวิทย์ ยังบอกถึงสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ ว่า เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวและไม่ได้ระวัง โดยการลงพื้นที่ชุมชนในจังหวัดภาคใต้ จะเริ่มจากครอบครัวที่ผู้ป่วยมีประวัติอยู่ที่โรงพยาบาล และจะทำการตรวจคัดกรองสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือไม่ จึงทำให้รู้ว่าบางครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ไปแล้วเกือบทั้งหมด

“การเริ่มต้นของโรคมะเร็งลำไส้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่จะมีอาการต่อเมื่อมะเร็งลุกลามไปแล้ว ใช้เวลาในการเป็นของโรคนี้ประมาณ 5 – 10 ปี จึงต้องมีการส่องกล้องเพื่อป้องกัน ซึ่งปัจจุบันทางทีมแพทย์มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ดีมาก สามารถป้องกันโดยการตัดชิ้นเนื้อ และรักษาในเวลาเดียวกัน แต่ถ้ารอให้ลุกลาม ซึ่งอาจจะลุกลามไปถึงตับ หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ จะทำให้มีโรคอื่นร่วมด้วย ฉะนั้น ในการลงพื้นที่หมอไม่อยากเจอคนไข้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว อยากให้คนไข้รักษาตั้งแต่แรกเริ่ม รักษาอย่างง่ายๆ สบายใจ และไม่เครียด”

IMG_0643

สำหรับเป้าหมายหลักของการจัดโครงการฯ ผศ.นพ.วรวิทย์ เล่าว่า เป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์คืออยากเป็นตัวชี้นำของชุมชน โดยการนำงานวิจัย และความรู้ต่างๆ ลงสู่ชุมชน โดย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เห็นความสำคัญในการลงพื้นที่ชุมชน ซึ่งถ้าสามารถนำความรู้สู่ชุมชนได้จริง มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และชุมชนสามารถดำเนินการต่อได้ ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก

“ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยมีงานวิจัยต่างๆ มากมาย แต่ไม่ได้นำความรู้ไปใช้กับชุมชนจริง ชุมชนเองขาดการดูแล ซึ่งชุมชนต้องการความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย อาจจะไม่ใช่ในเรื่องของงบประมาณต่างๆ แต่เป็นในเรื่องของความรู้ จึงเป็นโอกาสของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่จะได้นำความรู้สู่การปฏิบัติจริง โดยการคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นกิจที่หนึ่ง ดั่งคำปณิธานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”

IMG_0644

สุดท้าย ผศ.นพ.วรวิทย์ เล่าถึงการที่ตนเลือกมาเป็นหมอ ว่า หมอ เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก เพราะด้วยความที่ถูกปลูกฝังมาให้ช่วยเหลือคน รู้สึกว่าเมื่อทำให้คนอื่นมีความสุข ตัวเราเองก็จะมีความสุขเช่นกัน จนทำให้เกิดความรู้สึกที่อยากเป็นหมอตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันได้ดูแลคนไข้เป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเราทำให้คนไข้พ้นจากความทุกข์ ไม่มีอาการทรมาน และหายจากโรคได้ ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าในชีวิตเพียงพอที่จะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้

ทั้งนี้ โครงการตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะบริการฟรีตลอดไป หากท่านใดมีประวัติผู้ป่วยโรคนี้ให้เข้ามาติดต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ทางโรงพยาบาลยินดีบริการให้ฟรีด้วยเงินบริจาคจากกองทุนมะเร็งลำไส้และพันธุกรรม ภายใต้มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

IMG_0666

นายมัรวาน หะยีเจ๊ะเเละ นศ.ฝึกประสบการณ์ มรภ.สงขลา

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=31291

มี 2 ความคิดเห็น สำหรับ “‘ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ’ ศัลยแพทย์ ม.อ. ทุ่มกาย – ใจ ช่วยผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ภาคใต้”

  1. อโณชา ชัยหานิตย์

    ผมเปนฝีมาแปดปีแล้วฝีคัฑสรูทผ่าสองครั้งแล้วยังไม่หายทำไงดีครับหมอบอกว่าผ่าไม่ถึงรูทวารหารูไม่เจอ ช่วยด้วยครับผมทรมารมากครับ

  2. ศกุนตลา เพชรประสมกูล

    รบกวน สอบถาม หน่อย น่ะ ค่ะ แม่เป็นมะเร็งระยะที่3 รักษามา2ปี ลามไปที่ตับกับลามไปที่ปอดเมื่อ3เดือนที่แล้ว หมอไม่สามารถให้เคมีบำบัดได้เพราะร่างกายคนไข้อ่อนแอมากแล้วแม่ก็ขอไม่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดเค้าบอกว่าเค้าไม่ไหว แล้วแม่ก้อกลับมารักษาตัวที่บ้าน หมอนัด3เดือน เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ครบกำหนดตามหมอนัด แม่ไปเจอหมอตามปกติร่างกายแข็งแรง อ่อนเพลียนิดๆแต่ไม่มีปัญหาอะไรแต่ หมอไม่ตรวจ อะไร แม่ เลย หมอแค่บอกว่า ป้าแข็งแรงดีน่ะ แล้วแม่ถามหมอว่า คุณหมอไม่เจาะเลือดไม่ตรวจอะไรหน่อยเหรอ หมอตอบแม่ว่า ไม่ต้อง เจาะ ไม่ต้อง ตรวจ หรอก แล้วแม่ก็ถามหมอว่าแล้วถุงทวารเทียมไม่เอาเข้าให้เหรอหรือคุณหมอจะเอาเข้าให้เมื่อไหร่ หมอตอบแม่ว่าไม่ต้องเอาเข้าหรอกป้าก็อยู่ไปแบบนี้แหละ แล้วอีก3เดือนก็ค่อยมาเจอหมออีก คำถาม คือ หมอ ไม่ รักษา แม่ แล้ว ซึ่ง3เดือนที่ผ่านมาเค้าไม่คิดว่าแม่จะมาตามนัดไหวหรือเค้าคิดว่าแม่น่าจะไม่สามารถมาตามนัดได้ คือ เค้า ไม่ คิด ว่า คนไข้ จะ รอด แล้วตอนนี้คำตอบของหมอคือ แปลได้ว่าเค้าไม่รักษาคนไข้แล้วอ่ะ แต่ แม่ แข็งแรง ขึ้น แล้วเดือนที่แล้ว หมอมอ. นัด ไป กลืน แร่ ไทรอยด์ แต่ผลเลือดแม่ออกมาหมอบอกว่าไม่ต้องทานแร่แล้วค่ะ เพราะ ผล เลือด คนไข้ ดีมาก แต่พอหมออีกโรงบาลที่เป็นหมอประจำไข้เค้าบอกว่าลามไปทั่วตัวแล้ว แต่แม่แข็งแรงดี สรุป คือ ไม่ รักษา ให้ แล้วแบบนี้เราจะทำไงดีค่ะเพราะว่าแม่มีถุงทวารเทียมด้วยค่ะ(แต่ตอนนี้คนไข้แข็งแรงดีค่ะทานแต่ผักผลไม้แล้วก็ปลาค่ะงดเครื่องปรุงทุกประเภทยกเว้นเกลือค่ะ)

แสดงความคิดเห็นถึง ศกุนตลา เพชรประสมกูล

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us