ครอบครัวสิงหนคร จับมือ พช.สงขลา จัด Kickoff แผนปฏิบัติการ 90 วัน ‘ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร’ ต้านภัย COVID
ครอบครัวสิงหนคร จับมือ พช.สงขลา น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต จัดกิจกรรม Kickoff แผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ต้านภัย COVID
ช่วงบ่ายวานนี้ (23 เม.ย. 63) ที่ บริเวณบ้านพักนายอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ได้มีการจัดกิจกรรม Kickoff แผนปฏิบัติการ 90 วัน“ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ต้านภัย COVID ครอบครัวสิงหนคร นำโดย นายวิทศักดิ์ จำเริญนุสิต นายอำเภอสิงหนคร เปิดกิจกรรม กิจกรรม Kickoff แผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” “ผู้นำต้องทำก่อน” ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน ประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมปลูกผักสวนครัวในครั้งนี้ ประกอบด้วย ปลัดอาวุโส พัฒนาการอำเภอ เกษตรอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ สัสดีอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ ประมงอำเภอ กศน.อำเภอ ผู้จัดการ ธกส. ประธานชมรมกาแฟยามเช้าครอบครัวสิงหนคร นายก อบต./เทศบาล ประธานชมรมกำนัน–ผู้ใหญ่บ้านประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน เครือข่าย OTOp ผู้นำ อช. และทีมงานเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน โดยใช้พื้นที่บริเวณหลังบ้านพักนายอำเภอสิงหนคร ปลูกผักสวนครัว เช่น พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว มะละกอ ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาด โหระพาข่า ตะไคร้ ชะอม ซึ่งเป็นตัวอย่างในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายวิทศักดิ์ จำเริญนุสิต นายอำเภอสิงหนคร ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวสิงหนคร กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งกลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของประเทศต้องชะลอตัว ประกอบกับความตื่นตระหนกของประชาชนที่เกรงว่าสินค้าอุปโภค บริโภคจะขาดแคลน ดังนั้นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตสามารถเป็นทางออกและนำพาประเทศรอดพ้นวิกฤตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชนถือเป็นความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ ครอบครัวสิงหนคร ตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนโครงการนี้โดยให้“ผู้นำต้องทำก่อน” ผู้นำต้องทำเป็นแบบอย่าง เริ่มจากวันนี้บ้านพักนายอำเภอ บ้านหัวหน้าส่วนราชการหรือสถานที่ราชการที่สามารถปลูกผักสวนครัวได้ บ้านนายกเทศบาล / อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ประธานสตรี อสม. เป็นต้นแบบในการปลูกผักสวนครัวก่อน และประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชน ปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือน และต่อไปก็จะมีการสร้างเครือข่ายขยายผล อาจจะมีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ การแลกต้นกล้า การแบ่งปันพันธุ์พืชชนิดต่างๆ การลงแขกร่วมกันปลูกผัก การสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน รวมกลุ่มนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคไปทำบุญ ทำทาน แบ่งปัน แปรรูป และจำหน่ายต่อไป
สุธิดา พฤกษ์อุดม / ข่าว–สวท.สงขลา 23 เม.ย. 63
Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=54887