นศ.กัมพูชา สุขใจในรั้ว มรภ.สงขลา จับมือ เพื่อนชาวไทยปลูกผักสวนครัวไร้สารพิษ สู้วิกฤต COVID-19
ในขณะที่สถานการณ์ COVID-19 กำลังทำให้หลายคนเผชิญความยากลำบาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางข้ามพรหมแดนกลับไปยังประเทศบ้านเกิดได้ ทว่า นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวกัมพูชาที่มาเรียนยัง มรภ.สงขลา กลับเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการลุกขึ้นร่วมมือร่วมใจกับเพื่อนนักศึกษาชาวไทย ปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง พร้อมสานต่อเป็นโครงการปันสุขแบ่งปันผักไร้สารพิษแก่เพื่อนๆ ที่ขาดแคลน
อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาและคุณลักษณะบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา(มรภ.สงขลา) เล่าว่า ในช่วงปีที่ผ่านมามีนักศึกษาชาวกัมพูชา จำนวน 6 คน มาเข้าเรียนในคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลาซึ่งนักศึกษาเหล่านี้สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมไทยได้ดีมาก และหนึ่งในนั้นคือ นาย BUNNGY TE ได้รับเลือกจากเพื่อนๆ ให้ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในการเป็นผู้นำนักศึกษาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับอีก 6 คณะของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตสถานการณ์ COVID-19 ที่ระบาดรุนแรงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้นักศึกษาชาวกัมพูชาทั้ง 6 คน ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ ตนในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มนักศึกษา จึงเกิดแนวคิดในการหากิจกรรมต่างๆ ให้นักศึกษากลุ่มนี้ได้ทำ ซึ่งนอกเหนือจากการช่วยงานในด้านต่างๆ ของกองพัฒนานักศึกษา อาทิ ช่วยรวบรวมเอกสารเงินกู้ให้พี่ๆ เจ้าหน้าที่ ช่วยเช็คครุภัณฑ์พร้อมทั้งเขียนหมายเลขกำกับ ช่วยทาสีปรับปรุงห้องทำงานองค์การนักศึกษา ภาคปกติ (เก่า) ห้องงานกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้นเหล่านักศึกษากัมพูชาและเพื่อนนักศึกษาชาวไทย คือ นายทินกร หวังสป ประธานสภานักศึกษา ภาคปกติ ซึ่งเดินทางกลับบ้านเกิด จ.กระบี่ ไม่ได้ จึงช่วยกันปลูกพืชผักนานาชนิดไว้รับประทาน บนพื้นที่ว่างเปล่าด้านข้างหอพักปาริฉัตรของมหาวิทยาลัย
ประกอบกับทางจังหวัดสงขลา มีนโยบายให้ประชาชนปลูกพืชผักไว้รับประทานในครัวเรือน เพื่อลดความเสี่ยงจากการเดินทางในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ตนจึงขอความอนุเคราะห์ไปยัง ผศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ในการนำเครื่องจักรช่วยปรับพื้นที่สำหรับปลูกผัก และให้คำแนะนำวิธีปลูกดูแล และการเก็บเกี่ยว โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์สำหรับบำรุงพืชผัก
อาจารย์จิรภา เล่าอีกว่า เป้าหมายหลักของแนวคิดในการทำเรื่องนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือให้นักศึกษากัมพูชา ซึ่งต้องประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดในการมาเรียนที่ประเทศไทย ได้มีพืชผักปลอดสารพิษไว้ประกอบอาหาร ไม่ต้องซื้อหาจากข้างนอก ซึ่งตนตั้งใจที่จะสนับสนุนให้มีโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นวิธีคิดหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ กินอะไรปลูกอย่างนั้น และนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารได้แล้ว โครงการนี้ยังก่อให้เกิดประโยชน์กับนักศึกษาทั้งในด้านทักษะการใช้ชีวิตการฝึกความขยัน อดทน การทำงานอยู่ร่วมกับผู้อื่น และได้ฝึกความรับผิดชอบในการดูแลพืชผักให้เติบโต ซึ่งเป็นความรู้คนละแขนงกับที่เรียนมา ส่วนในภาพอนาคตหากผักที่พวกเขาปลูกมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็อยากแบ่งปันไปยังเพื่อนๆ ที่ขาดแคลน โดยอาจจัดทำในรูปแบบของตู้ปันสุขสำหรับนักศึกษาเป็นโครงการต่อไป
ด้าน นาย BUNNGY TE นายกสโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา นักศึกษากัมพูชา เล่าด้วยภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำว่า หลังจากเรียนจบระดับ ปวส. ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา ตนและเพื่อนๆ รวม 6 คน เลือกที่จะสมัครเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่ มรภ.สงขลา แทนที่จะเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ซึ่งพวกตนมีความสุขมากๆ ในการเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพราะได้ทำกิจกรรมหลากหลายและมีเพื่อนใหม่มากมาย
“หลังโควิด–19 ระบาด ผมและเพื่อนๆ ได้ช่วยกันปลูกผักไว้ทำอาหาร จนตอนนี้มีทั้งผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง พริก แตงกวา มะเขืออันได้แก่ ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง พริก แตงกวา มะเขือ โดยปลูกหมุนเวียนกันไปเพื่อให้มีผักไว้ทานได้ตลอด พวกเราแบ่งหน้าที่กันรดน้ำ พรวนดิน จนกระทั่งถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับความเหลือจากเพื่อนๆ ชาวไทยเป็นอย่างดี สร้างความภูมิใจและดีใจแก่พวกเราเป็นอย่างมาก จากช่วงแรกที่เคยรู้สึกลำบากเพราะต่างที่แปลกถิ่น ตอนนี้กลับมีความสุขมากๆ”
ขณะที่ นางสาว CHINGLINH SUN นักศึกษาชาวกัมพูชาอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเลขานุการนายกสโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เล่าว่า ตอนมาอยู่เมืองไทยแรกๆ ความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก เพราะไม่สามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้ หลังจากผ่านมาระยะหนึ่งเริ่มปรับตัวและสามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ ก็เริ่มใช้ชีวิตได้อย่างสนุกมากขึ้น ยิ่งได้ทำกิจกรรมปลูกผักทำให้มีการติดต่อสัมพันธ์กับหลายฝ่าย สร้างความคุ้นเคยและรู้สึกมีความสุข ทั้งที่ตัวเองไม่เคยปลูกผักมาก่อน เพราะครอบครัวที่ประเทศกัมพูชาประกอบอาชีพข้าราชการครู แต่โชคดีที่มีเพื่อนๆ ชาวไทยใจดีช่วยสอนงานให้ตลอด ซึ่งตั้งใจไว้ว่าหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายตนจะกลับไปปลูกผักให้พ่อแม่ได้รับประทานด้วยความภูมิใจ
ปิดท้ายด้วย นายทินกร หวังสป ประธานสภานักศึกษา ภาคปกติ มรภ.สงขลา เล่าว่า รู้สึกดีใจที่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนชาวต่างชาติเนื่องจากได้แลกเปลี่ยนแนวคิดทั้งในส่วนของแผนการทำงาน การแก้ไขปัญหา และการวางแผนที่จะทำการค้าร่วมกันในอนาคต แม้จะมีอุปสรรคบ้างเพราะความแตกต่างทางภาษา แต่ทุกอย่างก็ราบรื่นได้ด้วยน้ำใจและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะได้รับการผลักดันในระยะยาว เพราะอยากให้ผลิตผลปลอดสารพิษที่ตนและเพื่อนๆ ชาวกัมพูชาได้ร่วมกันปลูก ถูกนำไปใส่ในตู้ปันสุขให้แก่คนอื่นๆ ด้วย
แม้การปลูกผักเพื่อรับประทานเองอาจดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนทั่วไป แต่คงเป็นภาพที่พบเห็นได้ไม่ง่ายนักในกลุ่มนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนสาขาเกษตรโดยตรง การถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาไม่ใช่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้หันมาปลูกผักอย่างเดียว ทว่า มุ่งหวังให้ทุกคนเกิดแรงผลักดันในการลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และมีความสุขในสิ่งที่ทำ
Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=57318