|

” รับมือ – รู้ทัน – พื้นฟู ” ตามแนวทาง 453 Model ในพื้นที่ภาคใต้

” รับมือ – รู้ทัน – พื้นฟู ” ตามแนวทาง 453 Model ในพื้นที่ภาคใต้

          ในช่วงฤดูฝนนี้ ศปภ.ที่ 5 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้เร่งปรับบทบาทการทำงานของเจ้าหน้าที่จากการรอสำรวจความเสียหายมาเป็นการ ‘ ประเมินล่วงหน้า – เตือนล่วงหน้า – วางแผนฟื้นฟูล่วงหน้า ‘ เนื่องจากภัยน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินเฉพาะหน้าแต่อาจกลายเป็นความเสี่ยงถาวรของเกษตรกรในหลายพื้นที่ จึงได้จัดทำชุดข้อมูลแผนที่ความเสี่ยง และการจำแนกกลุ่มพืชตามระดับความเปราะบางและความล่อแหลม โดยยกระดับมาตรการรับมือภัยน้ำท่วมในภาคการเกษตร ด้วยการจัดระบบการประเมินความเสี่ยงรายพืช รายพื้นที่ และการเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอและตำบลให้สามารถเป็น “ด่านหน้า” ที่เชื่อมโยงการเตือนภัย การจัดการน้ำ และการฟื้นฟูพืชผลอย่างเป็นระบบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในแผนที่พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (Flood Risk Map) แนวโน้มพื้นที่เกษตรเสี่ยงน้ำท่วม                พร้อมจัดทำแนวทาง การรับมือ วางแผน 4 ระยะสำคัญในการรับมือภัยพิบัติ เพื่อเป็นชุดข้อมูลการสื่อสารให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อลงไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร โดยวิเคราะห์จากพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากที่ผ่านมา และวิเคราะห์ความเปราะบางของแต่ละพื้นที่ตามพืชที่ปลูก เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบ และแจ้งเตือนเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวางแผนการเข้าเยี่ยม/ฟื้นฟู แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

1. ระยะลดผลกระทบ (Mitigation) โดยการวางแผนล่วงหน้า ปรับแปลงเพาะปลูกให้มีทางระบายน้ำ

สร้างคันดินหรือประตูน้ำ เลือกพืชที่ทนทานต่อภาวะน้ำหลาก รวมถึงจัดตารางปลูกให้เหมาะกับฤดูกาล

2. ระยะเตรียมพร้อม (Preparedness) ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการ เตรียมเครื่องสูบน้ำ อุปกรณ์ป้องกัน และวางแผนอพยพหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตในกรณีฉุกเฉิน

3. ระยะตอบสนอง (Response) เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เกษตรทันทีเมื่อระดับน้ำลด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เฝ้าระวังฝนตกเพิ่มและน้ำจากต้นน้ำ สนับสนุนอาหาร น้ำ และเครื่องมือเร่งด่วนให้เกษตรกร

เฝ้าระวังโรคพืชและสัตว์ที่มักระบาดในสภาพน้ำขัง

4. ระยะฟื้นฟู (Recovery) หลังน้ำลด ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูก สำรวจความเสียหายและซ่อมแซมโครงสร้างแปลงปลูก แจกจ่ายพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกซ่อม ปรับปรุงดินหลังน้ำลดด้วยปุ๋ยอินทรีย์หรือปูนขาว ส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้นหรือพืชรายได้เร็วเพื่อฟื้นกระแสเงินสด                 โดยตัวอย่างความเปราะบางของกลุ่มพืชต่อภาวะน้ำท่วม เช่น

1. ข้าว: หากน้ำท่วมช่วงข้าวออกรวง เมล็ดอาจงอกคารวง เสียหายหนัก แม้ในพื้นที่ลุ่ม

2. พืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ทนน้ำขังได้ไม่เกิน 2 – 3 วัน จะส่งผลให้รากเน่า โคนเน่าและต้นตาย

3. พืชสวน ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง มะนาว จมน้ำเกิน 3 – 5 วัน โดยเฉพาะรากอ่อนในช่วงออกผล

4. พืชผัก ได้แก่ คะน้า ผักกาด หอม กระเทียม ต้นช้ำและเน่าเร็วแม้ถูกน้ำท่วมเพียง 1 – 2 วัน

5. พืชน้ำมัน : ถั่วลิสง ถั่วเหลือง งา ฝักเน่าเสียหายหากน้ำขังเกิน 24 ชั่วโมง ปาล์ม/มะพร้าวต้นเล็กเสี่ยง โค่นล้ม เป็นต้น

          ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศและข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด และรีบมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันเพื่อที่จะสามารถรับความช่วยเหลือจากภาครัฐในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ ทั้งนี้ สามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความพร้อมรับมือ ลดผลกระทบจากอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=99205

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us