|

วิบากกรรมของเอ็นจีโอในประเทศด้อยพัฒนา

downloadlogo-1

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักคิดนักเขียนและนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมเคยกล่าวไว้ว่า
“ทุกแว่นแคว้นถิ่นฐาน ล้วนมีคนอยู่ประเภทหนึ่ง ซึ่งนับจำนวนไม่เคยมาก พวกเขาทุ่มเททุกอย่างเพื่อกอบกู้สังคมที่ตนเองสังกัด โดยไม่เคยนึกถึงความเหนื่อยยาก หรือแม้แต่ภยันตราย คนเหล่านั้นไม้ใช่ศาสดา แต่ถ้าถามถึงลักษณะร่วมกันพอจะระบุได้ว่า มีอยู่พอสมควร ที่สำคัญที่สุดคือทุกคนต้องมาใช้ชีวิตไถ่บาปที่เขาไม่ได้เป็นคนก่อ ต้องลำบากตรากตรำและเสียสละต่างๆเพื่อให้คนอื่นได้พ้เคราะห์กรรมและได้รับคุณค่าแห่งชีวิตในราคาที่ถูกลง”

ขณะที่ธีรยุทธ บุญมี นักคิด นักวิชาการ นักต่อสู้ร่วมสมัยกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคยกล่าวว่า
“เอ็นจีโอและกระบวนการชาวบ้านยังมีบทบาทในการสร้างแผนภูมิทางความรู้ คุณธรรมและอำนาจแก่สังคม ทำให้สังคมเกิดแผนที่ใหม่ทางปัญญา คุณธรรมและอำนาจ การต่อสู้ของเอ็นจีโอและชาวบ้านเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญของการสร้างบรรทัดฐานและกลไกแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเป้าหมาย อุดมการณ์ ซึ่งบางครั้งไม่อาจจะลงรอยกันได้ แต่ชาวบ้าน กลุ่มเอนจีโอที่ประสบความยากลำบากเนื่องจากเป็นผู้ที่วิถีชีวิตถูกกระทบโดยตรง พยายามสรุป เก็บรับบทเรียนในการต่อสู้และถูกวิจารณ์ว่าดื้อรั้น ไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น”

รัฐบาลควรเก็บรับบทเรียน ไม่ใช่บทเล่ห์กระเท่ที่จะแยกสลาย บั่นทอนบทบาทในการทำหน้าที่ของเอ็นจีโอ เพราะถึงอย่างไร อนาคตของโลกก็คือการก้าวไปสู่การเมืองใหม่…ไม่ใช่การเมืองเก่าในรูปโฉมใหม่ เท่านั้น สำหรับสังคมไทยโดยทั่วไปก็ควรมองว่า การต่อสู้อันยากลำบากของเอ็นจีโอและชาวบ้านในหลายกรณีที่ผ่านมา ได้มีส่วนยกระดับจิตใจของเราให้เคารพปัญหาและวิถีชีวิตของพวกเรา แต่ไม่ใช่ลดระดับจิตใจของเราไปดูหมิ่นดูแคลน ถากถาง ขาดแคลนความเอื้ออาทร”

“รัฐบาลควรระวังการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ล่อแหลม หมิ่นเหม่ ขัดรัฐธรรมนูญและหลักจริยธรรม โดยเฉพาะข้าราชการให้ระวังละเมิดสิทธิส่วนบุคคล”

เอ็นจีโอไทย ถือกำเนิดมานานหลายทศวรรษ ถ้านับสภากาชาดไทยด้วยก็เกือบศตวรรษแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรแบบเอ็นจีโอประมาณ ๕,๐๐๐ องค์กร ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ทรงตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยที่แหลมตะลมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี ๒๕๐๕ มูลนิธิชัยพัฒนาตามพระราชดำริ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ฯลฯ

บทบาทหน้าที่สำคัญของเอ็นจีโอคือทำให้คนด้อยโอกาส คนยากคนจนได้รู้จักคิด มีส่วนช่วยตนเองและสามารถพึ่งตนเองได้ และในประเทศด้อยพัฒนาแต่อวดดีอย่างประเทศไทย เอ็นจีโอทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารจัดการและการดำเนินโยบายของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เอ็นจีโอจะทำหน้าที่ควบคู่ไปกับรัฐบาลในกิจการที่รัฐบาลอยากทำแต่ทำได้ไม่ดีกว่าภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน แต่ในประเทศด้อยพัฒนา เอ็นจีโอจะถูกผลักให้เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจรัฐและถูกกล่าวหาจากรัฐบาลใจแคบ สื่อด้อยพัฒนาและรับใช้อำนาจรัฐ ประชาชนที่คล้อยตามผู้มีอำนาจ ฯลฯ ว่าเอ็นจีโอเป็นกลุ่มคนที่ขัดขวางการพัฒนา ค้านทุกเรื่อง รับเงินจากต่างประเทศมาล้มรัฐบาล ทำให้เสียบรรยากาศในการลงทุน

เอ็นจีโอมีอยู่ในทุกประเทศ ยิ่งประเทศที่พัฒนาแล้วองค์กรเห่านี้ก็จะมีมากมายและมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยเพราะแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนสังคมที่ชัดเจนและยอดเยี่ยมที่สุด โดยเฉพาะประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย

องค์กรเหล่านี้ดำเนินการโดยไม่แสวงหาผลกำไร เป็นงานที่ต้องเสียสละ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย และทำด้วยจิตอาสา ไม่มีผลตอบแทน กลุ่มคนที่เข้ามาทำงานมีความหลากหลายอาชีพ หลากหลายชนชั้น

หน้าที่อีกประการหนึ่งของเอ็นจีโอที่สำคัญคือการรวมตัวของภาคประชาชนหรือประชาสังคมเพื่อต่อรองหรือคานอำนาจกับรัฐบาลของประเทศหรือองค์กรภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกับรัฐบาล เอ็นจีโอจะคอยสอดส่องและตรวจตราการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริง

ในประเทศไทยมี “คณะกรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน”(กป.อพช.)ทั้งส่วนกลางและในภาคต่างๆแต่ละปีจะมีการประชมสัมมนาเพื่อเลือกประธานและคณะกรรมการพร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนในปีต่อๆไป

แต่รัฐด้อยพัฒนา สื่อด้อยพัฒนาและประชาชนด้อยพัฒนาล้าหลังพยายามตัดตอน บั่นทอนความชอบธรรมของเอ็นจีโอ องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ทุกองค์กร ทั้งๆที่ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การตรวจสอบต้องดำเนินไปควบคู่กับการทำงานของรัฐ แต่รัฐไทยไม่ต้องการ ใครก็ตามที่เสนอความคิดเห็นแตกต่างไปจากรัฐบาลมักจะถูกตอบโต้ด้วยวิธีการที่รุนแรงและผลักให้เป็นปฏิปักษ์ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ ทำให้เสียภาพลักษณ์ กระทบการลงทุนจากต่างประเทศเสมอ

ไหนบอกว่าเรากำลังจะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย เราจะเป็นประชาธิปไตยแบไหนกัน ประชาธิปไตยสายพันธุ์ใหม่อย่างนั้นหรือ?

 

จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=11078

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us