|

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือน ธ.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น รายได้เกษตรกร – ยางพาราเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนธันวาคม 2559โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาณราคาสินค้าเกษตร ยางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงสิ้นปี

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2559 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่าเป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 53.70 เพศชาย ร้อยละ 46.30 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี คิดเป็นร้อยละ 32.70 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 39.80

img_2788

img_2789

​ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนธันวาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาณราคาสินค้าเกษตร ยางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงสิ้นปี

ทั้งนี้ในเดือนธันวาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะรายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ราคายางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยน้ำยางสดราคา 67.50 บาทต่อกิโลกรัม (การยางแห่งประเทศไทย, ในวันที่ 28 ธันวาคม 2559) ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร จำนวน 12,750 ล้านบาท ส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จึงนำเงินไปใช้จ่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ นโยบายของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ได้แก่ มาตรการลดหย่อนภาษี “ช็อปช่วยชาติ” ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 -31 ธ.ค. 2559 ซึ่งทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าและจ่ายค่าบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้ดัชนีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และรายจ่ายที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย อีกทั้งมาตรการลดหย่อนภาษีด้านการท่องเที่ยว สำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ระหว่างวันที่ 1-31 ธ.ค. 2559 รวมถึงในเดือนธันวาคมมีวันหยุดยาว 3 วันในช่วงวันพ่อ และวันรัฐธรรมนูญ จึงส่งผลให้รายจ่ายด้านการท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 24.30 และ 30.20 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า คาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 30.20 และ 27.40 จากปัจจัยราคายางพาราที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีช่วงเทศกาลวันหยุดต่าง ๆ ได้แก่ วันปีใหม่ และวันตรุษจีน

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ หนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 25.80 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ และราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 17.50 และ 11.70 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ หนี้สินครัวเรือน รองลงมา คือ ค่าครองชีพ และค่าจ้างแรงงาน ตามลำดับ

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=12338

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us