|

ไปไม่พ้นน้ำเน่า : “ตักน้ำรดหัวตอ ไม่มีวันจะแตกกิ่ง”

received_1185135968196353

jana2-1024x576

กรณีหน่วยงานทางปกครองแห่งหนึ่งในภาคใต้ในพื้นที่ขัดแย้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินมีหนังสือถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้เกณฑ์ชาวบ้านไปแสดงพลังสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหมู่บ้านละ  ๒๐  คนแต่พอเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ผู้บังคับบัญชาระดับจังหวัดก็ออกมาแก้ต่างอย่างข้างๆคูๆว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเข้าใจผิดในรายละเอียดของหนังสือสั่งการจากส่วนกลางและได้ตำหนิเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวและย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดชั่วคราว เป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอด แสดงปาหี่ตบตาประชาชนอีกฉากหนึ่ง

กรณีดังกล่าวมีประเด็นน่าสนใจว่า
๑.วัฒนธรรมทางความคิดของคนในระบบราชการไทยโดยเฉพาะหน่วยงานเกี่ยวกับการปกครองที่อ้างว่ามีหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”ให้ประชาชนมานานกว่าศตวรรษยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือยังคงไม่เห็นหัวประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยและไม่เอาด้วยกับทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อทางลัทธิการเมืองการปกครองในสมัยสงครามเย็น ทำสงครามลัทธิการเมือง ประชาชนถูกใส่ร้ายผ้ายสีและถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณ ดังเช่น กรณี “ถึบลงเขา เผาถังแดง”ที่พัทลุง “ตัวเดียวนัดเดียว”หรือ “ซือโก๊ะ แซกอ”ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “มึงสร้าง กูเผา”ที่จะนะและ “ไม่เอาถ่านหิน ท่าเรือน้ำลึก”ที่กระบี่ สตูลและสงขลา-ปัตตานี

๒.โซเชียลมีเดียยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบ เปิดโปงและประจานความไม่ชอบมาพากลของฝ่ายต่างๆในสังคมปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สุด มากกว่าเครื่องมือใดๆ โดยเฉพาะหน่วยงานตรวจสอบของระบบราชการ

๓.ปัญหาของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการบ้านเมืองของรัฐ ที่ยืนยันให้เห็นว่ามันเป็นกระบวนการที่เหมาะสำหรับสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น สังคมอำนาจนิยม ทั้งเผด็จการทหารและเผด็จการพลเรือนไม่เอื้อต่อการสร้างเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

๔.ผู้มีอำนาจและระบบราชการไม่ว่ายุคสมัยไหน ทั้งเผด็จการทหารและเผด็จการพลเรือนล้วนตกเป็นเครื่องมือหรือเอื้อต่อผลประโยชน์ของนายทุนมากกว่าความสันติสุขของประชาชนคนส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาสและเสียเปรียบ อำนาจรัฐไม่เคยเอียงข้างประชาชนอย่างแท้จริง ผู้มีอำนาจมักวางตัวเป็นปฏิปักษ์และเห็นประชาชนเป็นศัตรูขัดขวางการใช้อำนาจของตนเสมอมา

๕.คำว่า “แพะรับบาป”ยังใช้ได้ในสังคมไทย  เพราะไม่ว่าจะเป็นประชาชนพลเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้น้อยเมื่อถึงภาวะหนึ่งที่ต้องแสดงความรับผิดชอบหรือต้องการหาคนผิดมาลงโทษข้าราชการชั้นผู้น้อยมักจะตกที่นั่งลำบากเพราะถูกเลือกให้เป็นแพะเสมอมา ดังเช่นกรณีดังกล่าวข้างต้น  แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่านายเล่นบทโยนความผิดให้ตนแต่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องยอมกลืนเลือดเพื่อความจำเริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน

มาถึงวันนี้ พี่น้องประชาชนชาวใต้ที่มีจิตสำนึกสาธารณะ สนใจชะตากรรมของบ้านเกิดเมืองนอน บ้านพ่อเมืองแม่และมีสมอง มีความรู้สึกนึกคิดและมีศักดิ์ศรี ย่อมประจักษ์ชัดแก่ใจแล้วว่า ไม่มีใคร “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”ภาคใต้บนพื้นฐานที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดอนาคตของชุมชน ท้องถิ่นด้วยความเคารพในสิทธิของชุมชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมนิยมในสังคมที่กล่าวอ้างกันว่ากำลังแสวงหาหรือก้าวย่างไปสู่ “สังคมประชาธิปไตย”หลังความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงกว่าทศวรรษ จนเกิดการแทรกแซงอำนาจรัฐด้วยเหตุผลว่าจะ “ปฏิรูป”ประเทศไทยสู่ความเป็นอารยะเช่นประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย

สงสารพี่น้องประชาชนชาวใต้ที่ลุกขึ้นมาเสนอทางเลือกในการพัฒนาภาคใต้ที่เชื่อว่ายั่งยืนและนำไปสู่สังคมที่สันติสุข แต่ดูเหมือนว่าจะเหนื่อยเปล่าและมิหนำซ้ำทำท่าจะถูกคุกคามข่มขู่และติดคุกกันทั้งขบวน

สถานการณ์เผชิญหน้าในขณะนี้เป็นเหมือนคำกล่าวที่ว่า “ตักน้ำรดหัวตอ(ที่ตายแล้ว) ไม่มีวันที่มันจะแตกกิ่ง” เพราะเรามีการปกครองไว้เพื่อการปกครอง เพื่อลาภยศ มากกว่าจะมีการปกครองไว้เพื่อการศึกษาเรียนรู้ในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตามปณิธานที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”ที่กำลังถอยห่างสังคมภาคใต้ออกไปทุกทีแล้ว.

โดย จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=14004

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us