|

“โรงเรียนบ้านตาแปด” สถานศึกษาพอเพียง

unnamed (1)

“รักศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานเศรษฐกิจพอเพียง คู่เคียงชุมชน” คำขวัญโรงเรียนบ้านตาแปด ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน จนได้รับเลือกให้เป็น “สถานศึกษาพอเพียง”

นางพรลภัสส์ แซ่วุ่น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาแปด บอกถึงพันธกิจและวิสัยทัศน์ของโรงเรียนบ้านตาแปด ว่า โรงเรียนบ้านตาแปดมุ่งพัฒนาคุณภาพนักเรียน ให้มีความรู้และคุณธรรมตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยภายใต้กระบวนการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมอยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในปี พ.ศ.2561 พร้อมมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้และคุณธรรมตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามรถตามมาตรฐานวิชาชีพ ส่งเสริมการใช้สื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยพัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนากระบวนการบริหารงาน ให้มีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลภายใต้กระบวนการ มีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา และส่งเสริมการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืนโดยมีชุมชนเป็นส่วนร่วม

จุดเด่นของโรงเรียนบ้านตาแปดจะเป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยในโรงเรียนมีสวนยางพารราบนเนื้อที่ 40 ไร่ มีพื้นที่ปลูกปาล์มรอบบริเวณโรงเรียน มีการเลี้ยงสัตว์ทั้งไก่และเป็ด รวมทั้งมีการปลูกผักสวนครัวไว้ประกอบอาหารอีกด้วย และด้วยจุดเด่นนี้ทำให้โรงเรียนบ้านตาแปดได้รับคัดเลือกให้เป็น “สถานศึกษาพอเพียง”

unnamed (2)

นางพรลภัสส์ เล่าว่า ปัญหาที่พบบ่อยในโรงเรียนบ้านตาแปดคือปัญหาในการบริหารครูไม่ตรงตามวิชาเอก การจัดครูสอนตรงตามความถนัด นักเรียนใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร แต่พยายามสื่อสารกับนักเรียนโดยใช้ภาษากลางควบคู่ไปด้วย

“การศึกษาของประเทศไทยปัจจุบันเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในระดับที่เท่ากันในเชิงคุณภาพ และลืมนึกถึงวัตถุดิบที่ป้อนเข้ามา โรงเรียนแต่ละโรงเรียนคุณภาพของนักเรียนแตกต่างกันเกือบ 100 เปอร์เซ็น โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านตาแปด นักเรียนสื่อสารโดยใช้ภาษามาลายูเป็นหลัก ผู้ปกครองไปทำงานต่างประเทศ ร้อยละ 80 อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายเป็นหลัก เป็นต้น การศึกษาไทยในปัจจุบันมีการสร้างค่านิยมในการแข่งขันมากเกินไป เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านตาแปด เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนองนโยบายรัฐบาลครบทุกมาตรฐาน” นางพรลภัสส์ กล่าว และว่า

“โรงเรียนบ้านนอกปัจจุบันมีคู่แข่งมาก แต่รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเท่าเทียมกัน คนที่มีฐานะส่งลูกหลานเข้าเรียนเอกชนกันหมด ตอนนี้โรงเรียนตาฎีกามีเยอะมากเช่นกัน ซึ่งมีการแข่งขันแย่งเด็กกันค่อนข้างสูง แต่อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาของรัฐยังต้อนรับและให้การศึกษาแก่บุตรหลานโดยไม่เลือกชนชั้น ตามกระบวนการการศึกษาและนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก”

“ในเวลาที่เหลือก่อนเกษียณตั้งใจทำให้นักเรียนทุกคุณมีการศึกษา นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการประกอบอาชีพที่สุจริต เป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ” นางพรลภัสส์ กล่าวทิ้งท้ายในสิ่งที่ตั้งใจอยากจะทำก่อนเกษียณอายุราชการ

สำหรับโรงเรียนบ้านตาแปด ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พุทธศักราช 2500 ณ บริเวณสถานีรถไฟตาแปด มีอาคารชั่วคราวขนาด 6 X 8 เมตร ค่าก่อสร้างประมาณ 1,500 บาท โดยมีนายพิศ เพชรศิริ ปลัดอำเภอเทพามาทำพิธีเปิดพร้อมด้วยนายผัน เพชรจำรัส ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอเทพา โดยมีนายเหม ขะหมิมะ เป็นผู้รักษาการ ในตำแหน่งครูใหญ่ นักเรียนทั้งหมด 38 คน

ต่อมา พ.ศ.2507 อาคารเรียนชั่วคราวหลังดังกล่าวชำรุด คณะครูและประชาชนชาวตาแปดได้ร่วมกันซ่อมแซมเพื่อให้ใช้เรียนต่อได้ พ.ศ.2508 นายลอย เทพไชย ศึกษาธิการอำเภอเทพา ได้ให้งบประมาณ 20,000 บาท ทำการก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป.1 ก. จำนวน 3 ห้องเรียน ในพื้นที่ใหม่ที่ทางราชการสงวนไว้จำนวน 60ไร่ 1 งาน 53 ตารางวา ทำการก่อสร้างอาคารเรียนบางส่วนแต่ยังขาดฝา เพดาน พื้น และได้นำสังกะสีใบจากสาคูจากอาคารเรียนหลังเก่ามากั้นแทนไปพลางก่อนและได้ย้ายนักเรียนมาเรียนที่ใหม่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2508

และใน พ.ศ.2509 ได้ขอความช่วยเหลือด้านงบประมาณ 23,750 บาท จากนายบุญชอบ สาครินทร์ คหบดีมาต่อเติมอาคารเรียน แบบ ป.1 ก. จนแล้วเสร็จ พ.ศ.2519 ได้ขยายชั้นเรียนจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พ.ศ.2538 เปิดสอนหลักสูตรโครงการอิสลามศึกษา เป็นครั้งแรก

ปัจจุบันจัดการศึกษา 2 ระดับ คือ ระดับปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 1 – ชั้นอนุบาลปีที่ 2 และระดับประถมศึกษา ชั้นประประถมศึกษาปีที่ 1 – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 3 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีบุคลากรในโรงเรียนทั้งหมด 13 คน และมีนักเรียนจำนวน 85 คน โดยคำขวัญของโรงเรียนมีว่า “รักศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานเศรษฐกิจพอเพียง คู่เคียงชุมชน” และมีสีแดง – ขาว เป็นสีประจำโรงเรียน

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=14485

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us