|

เรามีมหาวิทยาลัยไปทำไม(๑)

 

 timthumb         เรามีความเชื่อกันมานานแล้วว่า “มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเจริญเติบโตของประเทศชาติและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน”  ประเทศไทยในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยนับร้อยแห่งและในอดีตมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีลักษณะร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือการเป็น “ส่วนราชการ”หรือหน่วยงานราชการ  และบทสรุปสำหรับสังคมไทยที่มีหน่วยงานราชการมาเกือบสองร้อยปี  เราสรุปกันมานานแล้วว่า “ระบบราชการไทยพัฒนาการช้าและล้าหลัง”  จึงมีผู้พยายามเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล”  ด้วยความหวังว่ามหาวิทยาลัยน่าจะเติบโตได้ดีกว่าและเร็วกว่าอยู่ในระบบราชการ  แต่สุดท้ายก็หาเป็นเช่นนั้นไม่

ว่ากันว่ามหาวิทยาลัยของรัฐเป็นขุมกำลังทางปัญญาของประเทศ  เป็นฐานรากอันสำคัญที่จะรองรับการพัฒนาด้านต่างๆเพื่อผลิตบุคลากรในระดับสูงออกสู่สังคมและสร้างสมความรู้และศักยภาพในทางวิชาการโดยผ่านกระบวนการศึกษา  ค้นคว้า  วิจัย  เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นเวลายาวนานกว่าร้อยปี  นับตั้งแต่ยุคสมัยการสร้างชาติและสร้างรัฐสมัยใหม่ในรัชกาลที่ห้า  ผ่านยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕  มาจนถึงปัจจุบัน  ยุคข้อมูลข่าวสารที่มีความเปลี่ยนแปลงและมีพลวัตอย่างมากในปัจจุบัน  อันเป็นยุคสมัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในระบบสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

นิยามความหมายของคำว่า “การอุดมศึกษา”  คือการศึกษาระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาหรือหลังมัธยมศึกษา  เป็นการศึกษาที่ว่าด้วยความรู้วิชาการชั้นสูง  เป็นวิทยาการที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง  ตลอดจนมุ่งในการสร้างความเจริญทางวิทยาศาสตร์และการงานระดับต่างๆ

ยูเนสโกนิยามการอุดมศึกษาไว้ว่า  “แผนการศึกษา  การฝึกอบรมหรือการฝึกอบรมเพื่อการวิจัยในระดับที่เหนือกว่ามัธยมศึกษาที่จัดโดยมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาอื่นซึ่งได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจและ/หรือผ่านระบบการรับรองให้เป็นสถาบันอุดมศึกษา”

ลักษณะขององค์ความรู้  หมายถึงวัตถุแห่งการศึกษาสำหรับอุดมศึกษา  เป็นการศึกษาที่มีการอ้างอิงความรู้ที่ได้ในการศึกษาระดับก่อนหน้าค่อนข้างน้อย  อาจอาศัยเพียงความรู้พื้นฐานในระดับที่จำเป็นเพื่อรับเอาองค์ความรู้ในระดับอุดมศึกษาซึ่งมีทั้งความรู้ที่คล้ายคลึงกับที่มีในการศึกษาระดับก่อนหน้านี้แต่มีความละเอียดและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น

ลักษณะของผู้รับการศึกษา  มีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าระดับก่อนหน้านี้  อาจเริ่มจากวัยรุ่นตอนกลางจนถึงผู้สูงอายุ  เรียกว่านิสิต  นักศึกษา  มุ่งสร้างผู้รอบรู้

ระดับและระยะเวลาของการศึกษา  กำหนดระดับการศึกษาไว้  ๔  ระดับ  ๑) การศึกษาระยะสั้น  เน้นให้มีความรู้  ทักษะและความสามารถในอาชีพเฉพาะทางและเพื่อเตรียมคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน  ใช้ระยะเวลาศึกษาอย่างน้อย  ๒  ปี  ๒) ระดับปริญญาบัณฑิตหรือเทียบเท่า  ถ่ายทอดวิชาในทางทฤษฎีหรือวิชาชีพในทางปฏิบัติ  ใช้ระยะเวลาศึกษาตั้งแต่ ๓-๔ ปีหรือมากกว่า ๔ ปี  ๓) การศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต  หรือเทียบเท่า  มุ่งเน้นการถ่ายทอดวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงและอาจมีการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา  ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย  ๕  ปี  ๔) การศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตหรือเทียบเท่า  เป็นการศึกษาเพื่อการวิจัยขั้นสูงทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ  ด้วยระยะเวลาศึกษาอย่างน้อย  ๓  ปี

สำหรับของประเทศไทยกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติกำหนดระดับคุณวุฒิของระดับอุดมศึกษาไว้  ๖  ระดับคือ ๑) อนุปริญญา(๓ ปี)  ๒) ปริญญาตรี  ๓) ประกาศนียบัตรบัณฑิต  ๔) ปริญญาโท  ๕) ประกาศนียบัตรชั้นสูง  ๖) ปริญญาเอก

องค์กรที่ทำหน้าที่จัดการศึกษา  เรียกว่าสถาบันอุดมศึกษา  ประกอบด้วย  มหาวิทยาลัย  วิทยาลัย  สถาบัน ฯลฯ

เป้าหมายและภารกิจของการอุดมศึกษา  ในต่างประเทศกำหนดไว้สั้นๆห้วนๆว่า “มหาวิทยาลัยนั้นเกี่ยวกับการสอนและการวิจัย”  นอกจากนั้นมีการนิยามกันไว้ต่างๆนานา  เช่น  “เป็นที่ซึ่งอุทิศแก่การแสวงหาศาสตร์และความเป็นนักวิชาการ  การวิจัยและการสอน  แสวงหาช่องทางที่มีส่วนให้เกิดการบ่มเพาะสติปัญญา  เป็นหนทางสำคัญที่สัจธรรมปรากฏความหมายและเป็นที่ประจักษ์ชัด

ภารกิจของมหาวิทยาลัยจำแนกได้เป็น  การวิจัย  การถ่ายทอดการเรียนรู้  การศึกษาและวัฒนธรรมซึ่งไม่อาจแบ่งแยกบทบาทหนึ่งออกจากบทบาทหนึ่งได้  การบรรลุภารกิจต้องแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักคิด  นักวิชาการ  ผู้สอน  ผู้เรียนและผู้เรียนด้วยกัน

หลักการของการอุดมศึกษา  ประกอบด้วย  ๑) ความเป็นอิสระในการดำเนินภารกิจ  โดยปราศจากการแทรกแซงจากอิทธิพลภายนอก  ๒) เสรีภาพทางวิชาการ

หมายเหตุ

เก็บความจาก  สุรพล  นิติไกรพจน์(๒๕๕๙).  มหาวิทยาลัยไทย : พัฒนาการ  มหาวิทยาลัยในกำกับและกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารงาน.

 

โดย..จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย

 

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=15060

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us