|

ธปท.เผย ศก.ใต้ หดตัวจากปีก่อน นักท่องเที่ยวมาเลย์ลด หลังเงินริงกิตอ่อนค่า

PNEWS17050311044201001

ธปท.เผย เศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 หดตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากผลของอุทกภัยต้นไตรมาส ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรลดลง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว ส่วนภาคการท่องเที่ยวหดตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวหลักมาเลเซียที่ได้รับผลกระทบจากเงินริงกิตอ่อนค่า การใช้จ่ายภาครัฐลดลง มูลค่าการส่งออกขยายตัว ตามการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับยางพาราเพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและมูลค่า รวมทั้งรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคยังขยายตัว ด้านเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราการว่างงานใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

วันนี้ (3 พ.ค. 60) เวลา 10.00 น. ที่ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ จัดแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 1 ปี 2560 และแนวโน้ม โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า ผลผลิตเกษตรลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากผลกระทบของอุทกภัยเดือนมกราคม ประกอบกับฝนตกผิดฤดูกาลในเดือนมีนาคม ทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้และการลงลูกกุ้งล่าช้า อย่างไรก็ดีผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น หลังจากผลกระทบภัยแล้งในปีก่อนคลี่คลายลง ด้านราคาขยายตัวดีในทุกสินค้า โดยเฉพาะยางพาราเร่งตัวมาก ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวสูง

ภาคการท่องเที่ยวหดตัวเล็กน้อย จากผลกระทบค่าเงินริงกิตอ่อนทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียในภาคใต้ชายแดนลดลง ประกอบกับผลกระทบของมาตรการปราบทัวร์ผิดกฎหมายที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนขยายตัวชะลอลง แต่มีทิศทางฟื้นตัวเนื่องจากผลดีของมาตรการลดค่าธรรมเนียมวีซ่าของภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเส้นทางบินตรงในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ตามยอดขายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและบริการที่ชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทำให้ครัวเรือนบางส่วนขาดรายได้และการจับจ่ายใช้สอยชะลอลง อย่างไรก็ดียังคงได้รับแรงบวกจากการซื้อสินค้าเพื่อบริจาคให้แก่ผู้ประสบภัย สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนในกลุ่มรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และแรงหนุนจากการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันที่ขยายตัว

การใช้จ่ายภาครัฐลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายลงทุนลดลงจากการลงทุนในสิ่งก่อสร้างของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อาทิ ถนน ศูนย์เด็กเล็กระบบประปา อย่างไรก็ดี หมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างยังคงขยายตัวจากการเบิกจ่ายของกรมทางหลวงเป็นสำคัญ

PNEWS17050311044201008

ด้านรายจ่ายประจำลดลงจากหมวดเงินเดือนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เปลี่ยนไปใช้ระบบจ่ายตรงเงินเดือนจากส่วนกลางในปีนี้ทำให้ไม่ปรากฏในการเบิกจ่ายงบประมาณของภาคใต้ ประกอบกับระยะเดียวกันปีก่อนมีแรงส่งจากมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ด้านรายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลง จากภาษีสรรพสามิต โดยเฉพาะหมวดภาษีสุรา และอากรนำเข้า

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมทรงตัว โดยการผลิตเพื่อส่งออกในอุตสาหกรรมถุงมือยาง ยางแปรรูป รวมทั้ง ไม้ยางและผลิตภัณฑ์ขยายตัวดีตามความต้องการของคู่ค้าที่มีต่อเนื่อง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยางแปรรูปได้รับผลดีจากการประมูลยางของภาครัฐ ทำให้ชดเชยวัตถุดิบที่ลดลงจากปัญหาอุทกภัย สำหรับการผลิตน้ำมัน ปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามผลปาล์มที่เข้าสู่โรงงาน ด้านอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปรวมทั้งอาหารทะเลกระป๋องนั้น การผลิตเพื่อส่งออกหดตัวตามปริมาณวัตถุดิบกุ้งที่ลดลงจากสภาพอากาศและราคาวัตถุดิบทูน่าที่อยู่ในระดับสูง

มูลค่าการส่งออกขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยางพาราเป็นสำคัญ ที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทะเลขยายตัวจากด้านราคาเป็นสำคัญ ส่วนมูลค่าการนำเข้าขยายตัวตามการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และเรือที่ใช้สนับสนุนการขุดเจาะในกิจการปิโตรเลียม

การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์เน้นขายที่อยู่อาศัยคงค้างมากกว่าการเปิดขายที่อยู่อาศัยใหม่ ประกอบกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุน สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนด้านพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลง อย่างไรก็ดีพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุก ส่วนบุคคลและมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น ตามภาคการค้าและอุตสาหกรรมการผลิตเกี่ยวกับยางพาราที่ยังขยายตัว นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยกิจการที่มีเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล อย่างไรก็ดี กิจการประเภทซอฟแวร์มีจำนวนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.99 เร่งตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนตามราคา น้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก๊าซหุงต้มที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาปลาและสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ด้านการจ้างงานทรงตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยการจ้างงานในภาคเกษตรลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากฝนตกหนักและเกิดอุทกภัย ทำให้ความต้องการแรงงานกรีดยางลดลง ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นตามการจ้างงานภาคท่องเที่ยว สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.45 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

สิ้นไตรมาส 1 ปี 2560 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 3.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินฝากภาครัฐที่เข้ามาพักไว้รอการเบิกจ่าย ขณะเดียวกันลูกค้าบางส่วนฝากระยะสั้นไว้เพื่อรอดูทิศทางดอกเบี้ย ขณะที่เงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 2.6 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัว โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการผลิตยังคงเร่งตัวจากธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาง และการผลิตน้ำมันปาล์ม ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค ยังคงลดลงใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตามการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถเป็นสำคัญ

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=16294

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us