|

“วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลภาคใต้” มุ่งผลิตช่างฝีมือ สอดคล้องตลาดแรงงานอาเซียน

001

“ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลภาคใต้จัดตั้งขึ้น มุ่งพัฒนาการศึกษาของเยาวชน ด้านช่างอุตสาหกรรมในท้องถิ่นภาคใต้ ได้มีโอกาสศึกษาเสมอกัน พร้อมผลิตบุคคลากรด้านช่างฝีมือจนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน”

นายนิรัตน์ กาฬพันธุ์ ผู้รับใบอนุญาต และผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลภาคใต้ กล่าวว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลภาคใต้ เป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ให้บริการด้านการศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่นมาเป็นเวลายาวนาน โดยมีจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษา เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาและผู้ปกครองในท้องถิ่นภาคใต้ ให้มีสถานศึกษาทางเลือกที่จัดการศึกษาประเภทอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาเยาวชนของชาติให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาตนเองและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่ออบรมฝึกฝนให้นักเรียนได้มีระเบียบ วินัย จรรยามารยาท รู้จักเคารพระเบียบสังคมและกฎหมาย เพื่อฝึกฝนให้เยาวชนมีความรู้ ความชำนาญ และทักษะวิชาชีพ ตามที่ได้ศึกษาทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ และเพื่อผลิตกำลังด้านช่างฝีมือให้รองรับความต้องการของตลาดแรงงานอันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศชาติต่อไป

20170516_143416

นายนิรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลภาคใต้ เป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้ความรู้ควบคู่คุณธรรมและใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิผล เรามุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องภายใต้บรรยากาศที่อบอุ่น เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแก่นักศึกษาและผู้ปกครอง อีกทั้ง เพื่อผลิตแรงงานด้านช่างฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอาเซียน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศชาติต่อไป

“ในแต่ละปีการศึกษามีผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่วิทยาลัยฯ ต้องให้ความดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการมีอาชีพรองรับหรือการต่อยอดทางด้านการศึกษาต่อเนื่อง วิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำความร่วมมือระหว่างสถาบันต่างๆ และสถานประกอบการชั้นนำ เพื่อให้นักศึกษาที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบได้มีโอกาสและช่องทางในการต่อยอดอนาคต สามารถนำความรู้ที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

17630182_1387736257963135_1628638218043950471_n

นายนิรัตน์ กล่าวถึงการศึกษาไทยในปัจจุบัน ว่า 1. โอกาสและมาตรฐานทางการศึกษาที่ไม่ทั่วถึง แหล่งการศึกษา ครูอาจารย์ที่มีคุณภาพมักกระจุกอยู่ตามเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง ประกอบกับนักเรียนในเขตเมืองนั้นมีโอกาสทางการศึกษาที่มากกว่า ทั้งความพร้อมด้านสถานที่และครอบครัว ต่างจากโรงเรียนในชนบท อีกทั้ง นักเรียนชนบทบางคนไม่สามารถเรียนต่อได้ เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ความยากจนและอื่นๆ ด้วยสาเหตุนี้ เมื่อเฉลี่ยคะแนนสอบต่างๆ ทั้งประเทศ มักจะต่ำกว่ามาตรฐาน แต่หากยกเฉพาะในเขตเมืองแล้วอาจสูงเทียบเท่าบางประเทศอย่างมาเลเซียหรือสิงคโปร์ได้ โรงเรียนบางแห่งมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศ โอกาสสอบเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นของเด็กในเมืองก็มีมากกว่า เด็กชนบทที่ข้ามมาถึงจุดนั้นได้มีน้อยมาก 2. สิ่งยั่วยุที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้นักเรียนไม่สนใจการเรียน 3. การจัดการศึกษาแบบรวมศูนย์เกินไป ไม่คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน เช่น กรณีที่มีเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กว่าแสนคน บริเวณที่มีอัตราส่วนนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้สูงที่สุดคือในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาษา

4. ผู้ปกครองบางส่วนแต่เดิมไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา มักให้บุตรหลานอยู่ช่วยทำงานมากกว่า เลยมักให้เรียนจบเพียงภาคบังคับ เกิดเป็นความคิดส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น 5. สภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ส่งผลเสีย เช่น การมีนักเรียนมากเกินไป 6. ค่านิยมของสังคมที่คนเก่งต้องไปเรียนแพทย์ วิศวะ ทำให้เหลือนักเรียนที่หัวปานกลางจนถึงอ่อนมาเรียนครู เมื่อเรียนจบออกไปก็มักจะเป็นครูที่ไม่มีคุณภาพ 7. ครูบางคนไม่ตระหนักถึงความสำคัญในอาชีพตัวเอง ไม่ใส่ใจในการสอน หรือสอนเพื่อให้จบไปวันๆ 8. หน้าที่ของครูบางคนเป็นยิ่งกว่าครู เช่น ครูตามชนบท ทำให้เวลาที่จะใช้สอนหนังสือน้อยลง 9. นักเรียนไม่รู้จุดมุ่งหมายในการเรียน บางคนมีเป้าหมายจริงๆ บางคนเรียนให้จบๆไป บางคนถูกบังคับให้เรียน จึงเกิดความเบื่อหน่าย ไม่สนใจในการเรียน และ 10. ค่านิยมของพ่อแม่ที่มักจะให้เรียนในสาขาที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของสังคม แทนที่จะให้ลูกได้เรียนในสิ่งที่ต้องการ ทำให้ผู้ศึกษาต่อในสายสามัญและสายอาชีพไม่สมดุลกัน

6

“มีไม่กี่อาชีพที่สามารถรัก สามารถหวังดี สามารถผูกพันกับลูกค้า โดยที่ไม่ได้หวังผลทางธุรกิจมันเป็นความรัก ความหวังดี ที่ให้ไปโดยไม่มีเงื่อนไขอะไร จะมีสักกี่อาชีพที่ได้เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและไม่ได้เกี่ยวข้องกันแบบผิวเผิน อาชีพครูเงินไม่ใช่ตัวดึงดูดคนอยู่แล้ว คนทำอาชีพนี้ใจต้องมา คิดว่าการที่เราได้เห็นเด็กแต่ละคนค่อยๆ เจริญเติบโตที่ละเล็กทีละน้อย ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ของพวกเขา มันดูมีความสุข” นายนิรัตน์ เล่าถึงเหตุผลที่เลือกมาเป็นครูและทำงานด้านการศึกษา และว่า

“ระบบการศึกษาไทยล้มเหลวกับการจัดการ ‘ความฝัน’ เรารู้แต่การจัดการความรู้ (Knowledge Management) แต่ไม่เคยพูดเรื่องการจัดการความฝัน (Dream Management) เลย จริงๆ แล้วแต่ละคนมีความฝันอะไร รู้กันหรือเปล่า ถ้ามองจากประสบการณ์ตัวเองที่เติบโตในระบบการศึกษาไทย ก็คือไม่รู้ ถึงหลงทาง วนไปวนมาในชีวิตนานอยู่การเน้นเป้าหมายที่จะทำให้เด็กได้เรียนอย่างสนุกมีความสุข ไม่ได้ขัดแย้งกับเป้าหมายที่จะทำให้เด็กเรียนเก่ง การเน้นทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขจะมีทำให้เด็กมีโอกาสเรียนเก่งได้มากกว่าการที่ครูพยายามจะป้อนข้อมูลทำให้เด็กท่องจำโดยเด็กไม่เข้าใจอย่างแท้จริง และโดยที่ครูไม่สนใจว่าพวกเขาจะเรียนได้อย่างมีความสุขหรือไม่การศึกษาที่ยึดถือเป้าหมายทำให้ผู้เรียนได้กำกับการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มขึ้น มีความสนุกในการเรียนและรักการเรียนด้วยตนเอง และที่สำคัญสามารถนำความรู้ที่ได้ มาใช้เพื่อประกอบวิชาชีพ และพัฒนาประเทศชาติต่อไป”

สำหรับวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลภาคใต้ เป็นสถานศึกษาสายอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2518 จากแนวคิดของ จ่าสิบตรีอนันต์ เรืองกูล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนตามหลักสูตรอาชีวศึกษา ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมและเป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ด้านช่างอุตสาหกรรมแห่งแรกของภาคใต้เดิมใช้ชื่อว่า “โรงเรียนช่างกลภาคใต้” จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2533 ทางโรงเรียนได้ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อเป็น“โรงเรียนช่างกลภาคใต้เทคโนโลยี” ต่อมา ในปี พ.ศ.2554 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลภาคใต้” มาจนถึงปัจจุบัน

วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลภาคใต้ ปัจจุบันได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนใน 2 ระดับชั้น ดังนี้ 1. ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกอบด้วย ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม – สาขางานยานยนต์ – สาขางานไฟฟ้ากำลัง – สาขางานอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทวิชาพาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ – สาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ – สาขางานธุรกิจสถานพยาบาล  2. ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส. / ปวส. พิเศษ) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม – สาขางานเทคนิคยานยนต์  ประเภทวิชาพาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ – สาขางานธุรกิจสถานพยาบาล ปัจจุบันบริหารงานโดย อาจารย์นิรัตน์ กาฬพันธุ์ ผู้รับใบอนุญาต และผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างกลภาคใต้ ภายใต้ปรัชญา “เพิ่มพูนปัญญา พัฒนาฝีมือ” และมีสีเหลือง – เลือดหมู เป็นสีประจำวิทยาลัยฯ

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=17029

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us