|

อาจารย์รุ่นใหม่ ม.อ. มุ่งวิจัยพลาสติกชีวภาพรับรางวัล PST Rising Star 2017

Copy of 1496418374885

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. มุ่งศึกษาวิจัยทำผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพจากผลผลิตทางการเกษตร ย่อยสลายเร็วเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากสมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แก้วตา แก้วตาทิพย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลPST Rising Star 2017ซึ่งเป็นรางวัลการเชิดชูนักวิจัยรุ่นใหม่ แต่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับชาติและนานาชาติ และมีจรรยาบรรณนักวิจัยที่ดี จากสมาคมโพลิเมอร์แห่งประเทศไทยในการประชุมวิชาการนานาชาติโพลิเมอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 (PCT-7) เมื่อระหว่างวันที่ 1 – 2 มิถุนายน 2560 ที่กรุงเทพมหานคร

IMG_1754

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แก้วตา แก้วตาทิพย์ ได้สอนเกี่ยวกับพอลิเมอร์พื้นฐาน และ วิชาเลือกพลาสติกชีวภาพโดยนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาสอนนักศึกษามีผลงานตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง โดยที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องของ “พลาสติกชีวภาพและวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากพลาสติกทั่วไปมีปัญหาจากการที่ย่อยสลายยาก  และทำจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งอาจมีบางช่วงที่ราคาสูงขึ้นและวันหนึ่งจะต้องหมดไป การใช้พลาสติกชีวภาพทดแทนพลาสติกทั่วไปจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เร็ว ใช้เวลาสร้างใหม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมเนื่องจากมีส่วนผสมของแป้งและโปรตีน ที่มาจากผลิตผลทางการเกษตร

ตัวอย่างหนึ่งที่กำลังมีการศึกษาคือ “แป้ง” ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นพลาสติกได้ แต่คุณสมบัติจะไม่สามารถเทียบเท่ากับพลาสติกที่ได้จากปิโตรเคมี จึงต้องมีการปรับโดยใส่สารตัวเติมที่มาจากธรรมชาติ เช่น จากเส้นใย เปลือกไข่ กระดองปลาหมึกเข้าไป ทำให้มีการทนต่อแรงดึงมากขึ้น เพื่อทดแทนพลาสติกสังเคราะห์ได้  โดยเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสารเหลือทิ้งได้อีกทางหนึ่ง ได้มีการทดลองทำถาดโฟมจากแป้ง ทดแทนถาดโฟมจาก Polystyrene ทางการค้า โดยเพิ่มเส้นใยกาบมะพร้าวเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ลดการดูดซับน้ำ และทำกระถางต้นไม้หรือภาชนะที่สามารถย่อยสลายพร้อมกับเป็นปุ๋ยไปในตัว สามารถนำต้นไม้ไปปลูกลงดินได้เลยทั้งกระถาง

20170603_110007

“เรื่องพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยเป็นเรื่องใหม่ โรงงานที่รองรับงานด้านนี้ยังน้อย ในการทำวิจัยยังมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือที่ทันสมัย แต่มีทุนสำหรับการทำวิจัยจำนวนมากและมีแนวโน้มที่ยังเป็นที่สนใจอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนั้น ได้มีโรงงานอุตสาหกรรมมาขอคำปรึกษาในการใช้ประโยชน์จากของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตซึ่งถือเป็นการเริ่มการให้บริการวิชาการอีกทางหนึ่ง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แก้วตา กล่าว

 

 

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=18105

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us