|

กฟผ.สั่งเร่งปรับการจ่ายไฟช่วยเสริมภาคใต้ เหตุ JDA–A18 ขัดข้องหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ

โฆษก กฟผ. แจงเหตุโรงไฟฟ้าจะนะ หยุดจ่ายไฟ เหตุจากแหล่งก๊าซ JDA–A18 ขัดข้อง เบื้องต้นประสาน ปตท.คาดว่าใช้เวลาซ่อมประมาณ 3 วัน วอนขอความร่วมมือประชาชนภาคใต้ช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย

19247952_1195043140641034_857024913033518301_n

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่า วันนี้ ( 24 มิถุนายน 2560) เวลาประมาณ 15.00 น. ได้รับแจ้งจาก ปตท.ว่า เกิดเหตุขัดข้องทำให้จำเป็นต้องหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA–A18 ส่งผลให้ โรงไฟฟ้าจะนะ เครื่องที่ 1 ขนาดกำลังผลิต 710 เมกะวัตต์ ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมันดีเซลแทน และต้องหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะนะ เครื่องที่ 2 ขนาดกำลังผลิต 766 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้ใช้น้ำมันดีเซลในการเดินเครื่องแทนก๊าซธรรมชาติได้ ส่งผลให้ กฟผ.ต้องเร่งปรับแผนการจ่ายไฟ เพื่อให้ประชาชน ภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ที่ 2,350 เมกะวัตต์

เบื้องต้นคืนนี้ช่วงเวลา 18.00 – 22.00 น. จ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าจะนะ เครื่องที่1 ซึ่งเมื่อปรับไปใช้น้ำมันดีเซลจะจ่ายไฟได้สูงสุด 650 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือได้ประสานซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียจำนวน 300 เมกะวัตต์ รวมทั้งประสานให้โรงไฟฟ้าขนอมเดินเครื่องเพิ่มเป็น 920 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟมาช่วยเสริมระบบอีกส่วนหนึ่ง

นอกจากนั้น ได้สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง รวมถึงเพิ่มการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง 200 – 300 เมกะวัตต์ มาช่วยอีกส่วนหนึ่งด้วย ทั้งนี้ หากภาคใต้ไม่มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงกว่าปัจจุบันหรือมีเหตุการณ์อื่นมากระทบเพิ่มอีก เชื่อว่าจะสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ ซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 2,350 เมกะวัตต์ ได้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในภาคใต้ช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่หยุดดังกล่าวจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

โฆษก กฟผ.กล่าวในตอนท้ายว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุขัดข้องหรือหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ กฟผ.จำเป็นต้องหยุดเดินครื่องโรงไฟฟ้าจะนะบางส่วน หรือหากสายส่งไฟฟ้าที่เชื่อมโยงระหว่างภาคกลางกับภาคใต้เกิดขัดข้อง จะทำให้กระทบกับการจ่ายไฟฟ้าของภาคใต้

ดังนั้น ภาคใต้จึงควรต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงและช่วยให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้มีความมั่นคงเพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=18232

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us