|

“วัดชลธารประสิทธิ์” โรงเรียนของชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วม

IMG_0081

โรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์ โรงเรียนขนาดเล็กที่มุ่งพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้มีความรู้คู่คุณธรรม พร้อมยึดหลักการบริหาร แบบ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน สามประสานช่วยกันพัฒนาโรงเรียน ทั้งชุมชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์ให้ยั่งยืน

โรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์ เป็นโรงเรียนในสังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 2 ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2483 โดยใช้โรงธรรมของวัดชลธารประสิทธิ์ เป็นที่ทำการสอน โดยมีนายทวีป บัวทอง เป็นครูและครูใหญ่คนแรก ต่อมาพระอธิการดำ กิตติสาโรเจ้าอาวาสวัดชลธารประสิทธิ์ พร้อมด้วยราษฎร หมู่ที่ 9 และ 10 ตำบลคูเต่า ได้ร่วมกันสร้างอาคารเรียนขึ้น 1 หลัง เป็นอาคารเรียนหลังแรก เปิดใช้มาจนถึง พ.ศ.2511 ปัจจุบันตั้งอยู่ในที่ธรณีสงค์ วัดชลธารประสิทธิ์ มีนักเรียน 60 คน ครู 5 คน ครูจ้างสอน ด้วยงบประมาณของชุมชน จำนวน 3 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 มีอาคารเรียนจำนวน 2 หลัง มีอาคารประกอบ จำนวน 3 หลัง และมีนายพิรักษ์ บัญชาวุฒิ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

IMG_0082

นายพิรักษ์ บัญชาวุฒิ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารงานโรงเรียนว่า โรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์จัดการศึกษาให้นักเรียน มีความรู้ คู่คุณธรรม ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายในการบริหารงาน ที่ว่า “โรงเรียนของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม” มุ่งพัฒนาคุณภาพนักเรียน ให้มีความรู้ และคุณธรรม ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายใต้การบริหารจัดการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

IMG_0084

“เนื่องจากโรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จึงขาดแคลน ทั้งอัตรากำลังครู และงบประมาณในการบริหารจัดการ โรงเรียนจึงต้องอาศัยชุมชน และคณะกรรมการสถานศึกษา ในการให้การสนับสนุน โดยยึดหลักการบริหาร แบบ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน สามประสานช่วยกันพัฒนาโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์โชคดีที่ชุมชนเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษา จึงให้ความร่วมมือดูแลช่วยเหลือโรงเรียนเป็นอย่างดี”

IMG_0083

นายพิรักษ์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่ชุมชนได้ให้ความร่วมมือและดูแลช่วยเหลือโรงเรียน คือ 1. ผู้ปกครองนักนักเรียนได้บริจาคเงิน คนละ 100 บาท เป็นประจำทุกเดือน เพื่อจัดจ้างครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ มาสอนนักเรียนทุกวัน 2. ทางวัดชลธารประสิทธิ์ โดยพระมหาธวัชชัย เจ้าอาวาส ได้จัดหาทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน เป็นประจำทุกปี และเสียสละเวลามาสอนหนังสือนักเรียนในทุกวันศุกร์ 3. คณะกรรมการสถานศึกษาร่วมกับวัดและชุมชนจัดงานระดมทุน เพื่อจัดจ้างครูผู้สอนภาษาอังกฤษ และครูผู้สอนภาษาจีน ได้เงิน จำนวน 400,000 ปัจจุบัน โรงเรียนได้จัดจ้างครูผู้สอนเพิ่มเติมอีก 2 คน 4. โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากช้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการไปแล้วมาช่วยสอนหนังสือให้กับนักเรียนเป็นประจำทุกวัน โดยไม่รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด

IMG_0085

สำหรับปัญหาในการจัดการศึกษาโรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์ คือ ระดับนโยบาย ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงตามผู้นำที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่บ่อยมาก ทั้งนโยบายและตัวหลักสูตร ทำให้การจัดการศึกษาไม่ต่อเนื่อง มีการคิดโครงการใหม่ๆ ออกมามาก ทั้งที่โครงการยังเดินไม่สำเร็จหรือยังไม่ทันเห็นผล ทำให้เป็นภาระกับคณะครูในการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น ดังนั้น ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้โรงเรียนได้ดำเนินงานอย่างมีอิสระ สนับสนุนงบประมาณให้อย่างเพียงพอ ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนให้น้อยลง เพื่อโรงเรียนจะได้จัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และปัญหาในระดับโรงเรียนของโรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์ มีทั้งด้านการบริหารจัดการ คือ มีครูผู้สอนไม่ตรงตามวิชาเอก และมีครูผู้สอนไม่ครบชั้น ซึ่งเป็นปัญหาที่โรงเรียนขนาดเล็กจะต้องพบเจอ โรงเรียนได้แก้ปัญหาโดยร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาและชุมชน จัดระดมทุนเพื่อจัดจ้างครูผู้สอน มาช่วยแก้ปัญหา ขาดแคลนครู ด้านนักเรียน นักเรียนบางส่วนไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่ไปประกอบอาชีพต่างท้องที่ ทำให้นักเรียนขาดการเอาใจใส่ที่ดี มีฐานะยากจน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียน โรงเรียนได้แก้ปัญหาโดยการออกเยี่ยมบ้านนักเรียน และจัดหาทุนให้แก่นักเรียนที่มีปัญหาต่างๆ

IMG_0086

“โรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์มีผลงานที่ภาคภูมิใจและความสำเร็จต่างๆ อาทิเช่น โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากชุมชน โดยมีวิทยากรท้องถิ่นเข้ามาช่วยสอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ในเรื่องงานจักสานเชือกกล้วย นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพได้ และได้นำความรู้ที่ได้รับเข้าร่วมแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลาเขต 2 ได้รับรางวัลเหรียญทอง รวมทั้งด้านผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ O-NET โรงเรียนได้รับรางวัล เกียรติบัตร มีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าระดับประเทศอีกด้วย”

IMG_0087

ในเรื่องการศึกษาไทยในปัจจุบัน นายพิรักษ์มองว่า การศึกษาจะปรับเปลี่ยนอย่างใจร้อนไม่ได้ ต้องมีการวางแผน และดำเนินการวางแผนอย่างชัดเจนต่อเนื่อง จึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนั้น นโยบายกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันนี้ ยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่หลายๆ เรื่องเป็นนโยบายที่ดี หากทำสำเร็จ แต่ต้องมีความต่อเนื่อง ถึงแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลหรือรัฐมนตรี โดยทิศทางของการศึกษาไทยต้องคำนึงถึงการประเมินโรงเรียน ครู อิงกับคุณภาพเด็ก ไม่ใช่อิงตามผลงานเอกสารของครู และนโยบายการศึกษาควรเกิดจากภาคประชาชน สังคม ไม่ใช่นักการเมืองฝ่ายเดียว

“ในเวลาที่เหลือก่อนเกษียณอายุราชการตั้งใจที่จะทำให้นักเรียนทุกคนมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน นักเรียนทุกคนจะต้องอ่านออกเขียนได้ อ่านคล่องเขียนคล่อง และเก่งภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งเป็นคนดี มีคุณธรรม ดำเนินงานในสภาพของความขาดแคลนโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนวัดชลธารประสิทธิ์ให้ยั่งยืนและก้าวหน้าตลอดไป” นายพิรักษ์กล่าวทิ้งท้าย

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=18631

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us