|

ม.อ. จับมือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จัดโครงการ “การเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง” ดึง 4 จังหวัดพื้นที่นำร่อง

PNEWS17071214081101002

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จับมือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดเวทีปิดโครงการ “การเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง ปี 2560” ดึง 4 จังหวัดพื้นที่นำร่อง ขณะที่ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. ย้ำยางไทยจะพ้นวิกฤติ ต้องปลุกจิตสำนึกคนไทยใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา

วานนี้ (12 ก.ค. 60) เวลา 13.30 น. ที่ห้องสราญรมย์ เอ ชั้น 2 – เฟส 2 โรงแรมนิว ซีซั่น สแควร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายสุรชัย กลางพระเนตร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 เป็นประธานในพิธีปิดโครงการ “การเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง ปี 2560” โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกัน

PNEWS17071214081101014

นายประสาทสุข นิยมราษฎร์ ผู้อำนวยการส่วนบริการธุรกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการโครงการ “การเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง ประจำปี 2560” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 จนปัจจุบัน ซึ่งถึงกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ และผลการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ คือ รองเท้าแตะเพื่อสุขภาพจากยางพารา ผลิตโดยบริษัท รับเบอส์อินโนเทค จำกัด นอกจากนั้นในโครงการได้ให้คำปรึกษาแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ทางด้านการเพิ่มศักยภาพในการลดต้นทุนการผลิต ลดของเสีย รวมถึงการเพิ่มยอดขาย

PNEWS17071214081101009

ทั้งนี้ จากปัญหาความผันผวนของราคายางพาราทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการในสถาบันการศึกษาต่างๆ ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อกู้วิกฤตในครั้งนี้ การยื่นมือเข้าช่วยของ 2 หน่วยงาน (ม.อ. – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) เพื่อแก้วิกฤตราคายางพาราที่ตกต่ำที่เกษตรกรชาวสวนยางที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นทางออกพอที่จะช่วยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางรวมไปถึงผู้ประกอบการด้านยางพาราได้นั้น คือ การแปรรูป จากที่เคยขายเป็นยางแผ่นดิบ นำมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งมูลค่าที่ได้จะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการให้คำปรึกษาแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เราจะต้องคิดต่อ คือ จะกระตุ้นอย่างไรให้เกิดการซื้อ เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา การปลุกกระแสให้คนไทยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ซึ่งจะทำให้รายได้จากการแปรรูปตกถึงมือเกษตรกรโดยตรง อีกทั้งยังส่งผลดีในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เช่น เพิ่มการจ้างงาน ลดปัญหาการเรียกร้องด้านราคา ส่งผลให้เศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคที่ผลิตยางเติบโตขึ้น

PNEWS17071214081101012

ด้าน รองศาสตราจารย์ อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตยางพาราได้เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่เราใช้การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพียงแค่ร้อยละ 12 เท่านั้น ที่เหลือเป็นวัตถุดิบซึ่งมีมูลค่าไม่สูงมาก สำหรับโครงการ “การเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง ประจำปี 2560” มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่มีอาจารย์นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านยางพาราอยู่มาก ถือเป็นแหล่งข้อมูล แหล่งรวบรวมความรู้ ประกอบกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 มาสนับสนุนอีกทาง ทำให้การทำงานยิ่งแข็งแกร่งขึ้น และในเฟสแรกนี้ จะใช้สถานประกอบการ ทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสตูล จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดตรัง เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งในโอกาสต่อไปจะใช้โมเดลนี้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย

PNEWS17071214081101011

สำหรับกิจกรรมภายในงานในครั้งนี้ ได้มีการเน้นการนำเสนอผลการดำเนินงาน เรื่อง “การเพิ่มผลผลิตภาพและพัฒนาศักยภาพสถานประกอบการ” และ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบอีกด้วย

PNEWS17071214081101010

PNEWS17071214081101008

สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=18737

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us