|

ศูนย์วิจัยภัยพิบัติฯ ม.อ. เตรียมแผนระยะสั้น-ระยะยาว รับมือน้ำท่วมใต้

IMG_0536

ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ ม.อ. เสนอ 2 แนวทางทั้งระยะสั้นและระยะยาว รับมือน้ำท่วมภาคใต้ โดยใช้ต้นแบบ “หาดใหญ่โมเดล” ต่อยอดในอีก 3 จังหวัด เน้นการร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อความสำเร็จ
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในการดำเนินการเพื่อแก้และลดปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ซึ่งศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ได้วางเอาไว้ และมีการนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยแล้ว จะแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทางซึ่งแบ่งเป็นทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือ แนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วมเชิงพื้นที่ ในรูปแบบของ “หาดใหญ่โมเดล” ที่ได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการหลายสาขาจากหลายคณะหลายวิทยาเขต รวมทั้งเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งแนวทางนี้สามารถทำได้ทันที และเห็นผลในระยะสั้น การดำเนินการในแนวทางแรก จะมีการนำความสำเร็จของ “หาดใหญ่โมเดล” ไปต่อยอดเพื่อช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยในจังหวัดที่เกิดปัญหาซ้ำซากจากอุทกภัย มีความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเริ่มจากเมืองที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินการ คือในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรัง และปัตตานี เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการเข้าตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้

ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือ แนวทาง การศึกษายุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำในภาคใต้และรายลุ่มน้ำ เป็นการศึกษาทางวิชาการ เรื่องการบริหารจัดการน้ำ การลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยจะทำการศึกษาและคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำในอนาคต มีการประเมินสมดุลน้ำ ศึกษาคุณสมบัติการไหลของน้ำ และ พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการทั้งอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำ ทั้งพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำย่อย แต่ในแนวทางนี้จะไม่เห็นผลในระยะสั้น เนื่องจากหลายอย่างเป็น มาตรการทางโครงสร้าง ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง รับไปดำเนินการต่อ

ทั้งนี้ การที่มหาวิทยาลัยได้เข้าไปมีส่วนในการแก้ปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยชัดเจนขึ้นในเรื่องการมีส่วนในการแก้ปัญหาชุมชน โดยทั้ง 2 แนวทางเป็นการบูรณาการความรู้และความร่วมมือจากนักวิชาการของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในทุกสาขาทุกวิทยาเขต รวมทั้งจากหน่วยงานภายนอก ในการช่วยศึกษาขัอมูลเพิ่มเติมในเรื่องที่สำคัญในการช่วยแก้ปัญหาอุทกภัย ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์จนถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=19007

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us