|

ไว้อาลัยให้กับคำไว้อาลัยที่ไม่ได้ร่วมไว้อาลัยในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์

20264588_2021502831208582_8451725396664164889_n

โชคดีที่ผมไม่รับคำท้าของบุญเลิศ จันทระว่า คำไว้อาลัยของผมจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของอ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เมื่อรู้ว่าใครเป็นคนสำคัญในการจัดทำหนังสือดังกล่าว ซึ่งผมมองไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าผมรับคำท้าผมคงแพ้พนันอย่างไม่คาดคิด ทั้งๆที่ในความเป็นจริงผมพบและเห็นมาว่า

หนึ่ง ผมไม่เคยเห็นว่ามีข้อเขียนไว้อาลัยเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตายที่ไหนจะไม่ได้รับการพิจารณาตีพิมพ์โดยเฉพาะข้อเขียนที่ครอบครัวผู้ตายร้องขอจากคนที่เขาเห็นว่ามีความหมายต่อผู้ตาย

สอง คำไว้อาลัยหรือความรู้สึกที่มีต่อการจากไปของอ.สุธิวงศ์ ผมได้รับคำเชิญจากอ.ประดับ พงศ์ไพบูลย์ ภรรยาของอ.สุธิวงศ์ ผมไม่ได้อุตริเขียนส่งไปเองโดยพลการ

แต่ผลออกมาตามที่บุญเลิศคาด _คือไม่มีคำไว้อาลัยของผมในหนังสือดังกล่าว ผมจึงพยายามหาเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการตัดสินใจของคณะทำงานโดยเฉพาะผู้เป็น “นายหัว”ในการตัดสินใจว่า

ประการแรก อาจจะเพราะหน้ากระดาษของหนังสือที่จัดทำมีจำกัดและมีคนเขียนถึงอาจารย์มาก แต่เท่าที่ทราบผู้เขียนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดได้รับการร้องขอจากครอบครัวของอาจารย์ทั้งนั้น และหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของคนสำคัญระดับอาจารย์ไม่น่าจะมีข้อจำกัดเรื่องนี้จนต้องถึงกับเสียมารยาทในการตัดทิ้งข้อเขียนของบางคนออกไปโดยไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจ

ประการที่สอง ข้อเขียนของผมด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เข้าเกณฑ์พอจะร่วมตีพิมพ์กับเขาได้ แต่ผมก็เป็นนักเขียน เป็นคอลัมนิสต์ เขียนหนังสือมากว่าสามทศวรรษ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมากมายพอสมควร อีกทั้งเคยเขียนคำไว้อาลัยใครต่อใครมามากมาย

ประการที่สาม บุคคลสำคัญในคณะทำงานจัดทำหนังสือเล่มนี้มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีกับผมมาหลายกรรมหลายวาระและเคยแสดงออกในลักษณะคับแคบเช่นนี้มาหลายครั้ง

ประการที่สี่ คนที่ตัดสินใจยกต้นฉบับผมออกจากการร่วมตีพิมพ์อาจจะไม่รู้ว่าผมเขียนตามที่อ.ประดับ พงศ์ไพบูลย์ ร้องขอมา ผมไม่ได้สะเออะเขียนเองโดยพลการเช่นใครบางคนพยายามฉวยโอกาสสร้างชื่อให้กับตัวเองเขาทำกัน

เมื่อไม่มีโอกาสได้ร่วมแสดงการไว้อาลัยอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือและไหว้ได้อย่างไม่เสียดายมืออย่างที่พยายามทำใจไหว้ใครบางคน ผมจึงถือโอกาสนี้นำข้อเขียนชิ้นนั้นของผมมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ และในความเป็นจริงแล้วผมเคยเผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้ผ่านทางนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว นั่นคือ “จดหมายถึงครู” ครับ

“จดหมายถึงครู

ครูครับ
นับตั้งแต่วันที่ครูล้มหมอนนอนเสื่อเพราะตรากตรำงานหนักจนถึงวันที่ครูหยุดหายใจอย่างสิ้นเชิงเมื่อคืนวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ นับเป็นช่วงเวลาหลายปีที่ผมหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นครูเอาแต่สะอื้น ไม่เจรจาสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเหมือนวันก่อนๆ
ผมโหยหาวันเวลาแห่งอดีต วันเวลาที่ครูชวนผมมาอยู่สถาบันทักษิณคดีศึกษาเมื่อ ปี ๒๕๓๙ ปีที่ครูเกษียณอายุราชการและเริ่มมีปัญหากับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย คนที่ครูและอ.อาคม พัฒิยะ มีส่วนในการสนับสนุนให้เขามาเป็นใหญ่เป็นโตที่นี่
แม้ว่าผมจะสูญเสียโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจากที่ทำงานเดิม มาอยู่กับความไม่แน่นอนในอนาคตของบุคลากรสายสนับสนุน บุคลากรชั้น ๒ ของมหาวิทยาลัย แต่ผมก็ดีใจที่ได้มีโอกาสรับใช้ครูในยามที่ครูมีเรื่องรบกวนจิตใจจากการทำงานสร้างสรรค์ให้กับบ้านเกิดเมืองนอน
ผมสะดวกใจอย่างยิ่งที่มาสนิทสนมใกล้ชิดกับครูในช่วงเวลาที่ครูเกษียณอายุราชการ หมดอำนาจจะให้คุณให้โทษใครได้ มีแต่ถูกเขาให้โทษครูอยู่เป็นระยะๆ เปิดโอกาสให้ผมได้ปกป้องรับใช้ครูทั้งโดยการเขียนบทความตีแผ่ความจริงต่อสาธารณะ การพูดแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมของสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยและที่อื่นๆที่มีการพาดพิงถึงครูให้เกิดความเสียหาย การติดต่อสื่อมวลชน(ไอทีวี)มาสัมภาษณ์และทำข่าวครูและหาที่อยู่ใหม่ให้ครูนั่งทำงานโครงการที่ครูทำเพื่อสถาบันทักษิณคดีศึกษา ในยามที่ครูถูกกดดันให้ออกจากสถาบันทักษิณคดีศึกษา องค์กรที่ครูสร้างมันมากับมือและทุ่มเทให้มันทั้งชีวิต
ผมได้รู้จักและรู้เห็นความเป็นไปของครูทั้งในยามรุ่งอรุณและสนธยา ยามที่ครูพบวิบากกรรมผมเป็นคนแรกๆที่ครูเรียกหามารับใช้ แต่ยามที่ครูได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติผมได้แต่ยืนดูอยู่ห่างๆด้วยความชื่นชมยินดี
บัดนี้ ครูละสังขารลงแล้ว เหลือไว้แต่ความทรงจำของผมที่มีต่อครู ซึ่งบางเรื่องราวอาจจะอยู่เหนือการรับรู้และคาดหมายของหลายคน เราต่างรับรู้กันเพียงสองคน เพราะครูมักจะนัดผมทานข้าวแถวๆเกาะยอบ่อยๆเพื่อระบายความในใจและถามข่าวคราวความเป็นไปของสถาบันทักษิณคดีศึกษา สถาบันที่ครูรักดุจแก้วตาดวงใจยิ่งกว่าลูกสาวลูกชาย
ผมจำวันวิกฤตของชีวิตครูที่ขัดแย้งกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนนั้นแล้วไม่มีใครที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้นออกมาปกป้องครู ผมจึงต้องออกหน้าทางสื่อมวลชนจนเป็นที่เกลียดชังของผู้มีอำนาจไปด้วยโดยปริยาย
เย็นวันนั้นครูออกมามานั่งปรับทุกข์กับผมที่เชิงบันไดหน้าห้องทำงานที่ตึกสารนิเทศ สถาบันทักษิณคดีศึกษาและครูเปรยทั้งน้ำตาคลอเบ้าว่า “จรูญระวังตัวหน่อยนะเดี๋ยวเขาจะกลั่นแกล้งเอาเพราะเราไม่มีบารมีพอให้เขาเกรงใจ” แต่ผมก็ยืนยันกับครูว่า “ผมดีใจที่ได้ปกป้องอาจารย์ในวันที่อาจารย์หมดอำนาจและผมไม่วิตกกังวลเรื่องการถูกกลั่นแกล้งหรือไม่มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานเพราะผมคิดว่าผมมาไกลกว่าพ่อแม่และบรรพบุรุษมากพอแล้วครับ”
นับจากนี้เป็นต้นไป พันธกิจแห่งชีวิตของผมคือการทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของครูสู่สาธารณชนและอนุชนเพื่อขับขานตำนาน “คราบน้ำตาบนทางชีวิตและงาน ของ สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์”ให้มีชีวิตและลมหายใจยืนยาวออกไป อย่างน้อยก็ชั่วชีวิตและลมหายใจสุดท้ายของผมครับครู.

ด้วยศรัทธา-คารวะครูตลอดไปครับ
จรูญ หยูทอง
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐”

เล่าไว้ให้รับรู้โดยทั่วกัน
จรูญ หยูทอง
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐
บอกดวงวิญญาณของอาจารย์ให้รับรู้ว่าทำไมผมจึงไม่เขียนถึงอาจารย์ในหนังสืองานศพหรือในหนังสืองานศพไม่มีข้อเขียนของผมเขียนถึงอาจารย์

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=19391

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us