|

“ชุมชนบ้านสะพานไม้แก่น” ต้นแบบโรงเรียนดีศรีตำบล

IMG_0248

โรงเรียนชุมชนบ้านสะพานไม้แก่น มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนนักเรียน โดยยึดหลักปรัชญาที่ว่า “การศึกษาเพื่อสันติสุข” (Education for peace) รวมทั้ง มีนโยบาย 5 ส. คือ 1. สะอาด 2. เสมอภาค 3. สร้างสรรค์ 4. สามัคคี 5. สันติสุข พร้อมมีจุดเน้น คือ “แข็ง เก่ง ดี ที่สะพานไม้แก่น” กล่าวคือ นักเรียน ครู และบุคลากรทุกคนมีร่างกายแข็งแรง สติปัญญาดี และมีคุณธรรม

นายโสภณ ชูช่วย ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านสะพานไม้แก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมามุ่งพัฒนาโรงเรียนชุมชนบ้านสะพานไม้แก่น อ.จะนะ จ.สงขลาให้เป็น “โรงเรียนดีมีคุณภาพ” หรือเป็นโรงเรียนดีประจำตำบลให้มีความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านวิชาการ อาชีพ และการพัฒนาสุขภาพอนามัย สามารถให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนอย่างมีคุณภาพ เป็นศูนย์พัฒนาครูสำหรับโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และมีกิจกรรมบริการชุมชน ตลอดจนเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสในท้องถิ่นชนบท

“ตลอดระยะเวลาในการบริหารงานโรงเรียนบ้านสะพานไม้แก่นมักจะพบปัญหาในตัวนักเรียน คือ1. นักเรียนขาดระเบียบวินัย ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากนักเรียนขาดความตระหนักหรือไม่เห็นความสำคัญของระเบียบวินัย ตลอดจนได้รับการฝึกฝน อบรมด้านนี้ไม่มากพอ จึงมีวิธีแก้ไขปัญหานี้โดยครูและผู้ปกครองต้องร่วมกันสร้างความตระหนัก ช่วยกันอบรมหรือฝึกฝนโดยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการชมเชย ให้เกียรติบัตร ให้โล่ ฯลฯ แก่ผู้ทำตนเป็นแบบอย่างดีเด่นด้านระเบียบวินัยในโอกาสอันเหมาะสม2.นักเรียนขาดจิตสาธารณะ ซึ่งสาเหตุเนื่องจากนักเรียนไม่เห็นความสำคัญ ไม่เข้าใจ และไม่เห็นแบบอย่างของจิตสาธารณะมากพอ และมีวิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้คือ ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องเร่งอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สาธิต ส่งเสริม สนับสนุน และประชาสัมพันสร้างความเข้าใจเรื่องจิตสาธารณะ การคิดเชิงบวก การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน การสละเลือดเนื้อและชีวิตของบรรพบุรุษเพื่อรักรักษาผืนแผ่นดินนี้ให้ลูกหลานไทย ตลอดจนยกย่องผู้มีจิตสาธารณะอย่างจริงจัง” นายโสภณ เล่าถึงปัญหาที่พบในการบริหารงานโรงเรียนบ้านสะพานไม้แก่น

IMG_0285

ด้านมุมมองการศึกษาไทยในปัจจุบันนายโสภณ มองว่ายังมีปัญหาในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1. โครงสร้างทางการศึกษา : หากมองจากโครงการสร้างทางการศึกษาเราจะพบว่า การศึกษาเป็นแบบรวมศูนย์จากส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถบริหารจัดการการศึกษาให้เหมาะสมกับพื้นที่ตนเองได้อย่างเต็มที่ และไม่มีการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการศึกษาภาคประชาชน 2. นโยบายการศึกษา: เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการจนบั่นทอนคุณภาพของผู้เรียน ด้วยการประเมินผลและตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่หลากหลาย เน้นการวัดผลจากคะแนนสอบเท่านั้น คัดแต่คนเรียนเก่ง จนอาจละเลยศักยภาพของคนดี หรือผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งเมื่อหลักสูตรผูกติดอยู่กับหลักสูตรกลาง จึงทำให้องค์ความรู้ท้องถิ่นและความสามารถของนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมค่อยๆ สูญหายไป 3. เป้าหมายการศึกษา: เน้นการผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงขาดความหลากหลายของผู้เรียน ลดทอนความสุขจากการเรียนรู้ และการเชื่อมโยงกับส่วนรวม สังคมและโลก จุดมุ่งหมายทางการศึกษากลายเป็นปริญญาบัตรมากกว่าการพัฒนาทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ก่อให้เกิดปัญหาการลาออกจากงาน หรือการเลิกเรียน (drop out) จากระบบการศึกษา 4. การศึกษาไทยยังขาดแนวคิดของการมีส่วนร่วม เพราะการศึกษาไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของส่วนรวมสังคมไทยมีความหลากหลายทั้งชาติพันธุ์ ศาสนา ประเพณี แต่การศึกษากลับยังไม่มีความหลากหลายมากพอเมื่อการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน การปฏิรูปการศึกษาจึงไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องดำเนินการด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

5. การจัดสรรงบประมาณปัจจุบัน ยังมีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม และไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยการศึกษายังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ส่วนโรงเรียนเล็กๆ ในชนบทจะได้รับงบประมาณน้อย บุคลากรน้อย กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตามมาโรงเรียนกลายเป็นพื้นที่การแข่งขันของนักเรียน มากกว่าพื้นที่แห่งการเรียนรู้ 6. เน้นการท่องจำมากกว่าการค้นพบตัวเอง ซึ่งการศึกษาแบบคัดคนเก่ง และคาดหวังให้เด็กทุกคนเรียนเก่ง จึงเป็นสาเหตุให้เด็กจำนวนมากไม่อยากเรียน และเรียนไม่จบเด็กที่เรียนจบจากระบบการศึกษากระแสหลัก เดินเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้เด็กต้องเดินทางเข้ามาอยู่ในเมือง และออกจากท้องถิ่น และไม่มีโอกาสได้กลับมาพัฒนาชุมชนและสังคมที่ตนเองอยู่ 7. หน่วยงานด้านการศึกษา และคนจำนวนมากยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก ว่าเป็นการศึกษาสำหรับกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษากระแสหลัก ทั้งๆ ที่เป้าหมายของการศึกษาทางเลือก คือการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการ ความชอบ และความถนัดที่แตกต่างกันในผู้เรียนแต่ละบุคคล

IMG_0284

“ก่อนเกษียณอยากเห็นการจัดการศึกษาไทย 4.0 โดยเริ่มจากผู้บริหาร ผู้สอนต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบเอาคะแนนสูง ทำให้นักเรียนถูกจำกัดอยู่ในกรอบ ไม่สามารถคิดนอกกรอบได้ ครูต้องให้เสรีภาพเด็กเลือกเรียนตามความถนัด โดยส่งเสริม เติมเต็มตามศักยภาพของเด็ก ซึ่งเป็นการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคมาก รวมถึงต้องเป็นเป้าหมายการศึกษาของชาติ สร้างเด็กสร้างนวัตกรรม เลิกการบรรยาย แต่ให้เด็กได้ลงมือทำ เด็กทุกคนต้องมีผลงานและเห็นความสำเร็จอยู่ที่ผลงาน การเรียนการสอนทุกวิชาต้องเป็นแบบเดียวกัน มีการดำเนินการต่อเนื่อง และทุกคนต้องร่วมมือกันทำ”

สำหรับโรงเรียนชุมชนบ้านสะพานไม้แก่น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 3 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2474 โดยพระครูจันทร์ คุณสมปญโย เจ้าอาวาสวัดสะพานไม้แก่น โดยใช้ที่ดินของวัด ในเขตหมู่ที่ 1 ตำบลสะพานไม้แก่น อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้สร้างเป็นอาคารเรียนชั่วคราว เปิดสอนครั้งแรก 3 ชั้นเรียน คือ ชั้นเตรียมและชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีนายถ้าย หวั่นห้วย เป็นครูคนแรก ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2476 ได้ตั้งเป็นโรงเรียนประชาบาลตำบล ชื่อโรงเรียนประชาบาลตำบลสะพานไม้แก่น โดยมีนายซุ้น ตันทวสิน เป็นครูใหญ่คนแรก ต่อมาได้สร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 1 หลัง และได้ย้ายมาอยู่สู่ในที่ดินของวัดสะพานไม้แก่น ที่ตั้งปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนดีศรีตำบล และโรงเรียนในโครงการดีมีคุณภาพ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 3

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=19974

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us