|

“ร.ร.วัดท่าข้าม” เน้นเรียนรู้พร้อมลงมือปฏิบัติ – ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

IMG_1011

“โรงเรียนวัดท่าข้าม องค์กรแห่งการเรียนรู้ ผู้เรียนมีคุณธรรม นำความรู้ มุ่งสู่มาตรฐานการศึกษา สืบสานความเป็นไทย ใส่ใจสุขภาพ รักษ์สิ่งแวดล้อม น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การบริหารแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” นี่คือ วิสัยทัศน์ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวัดท่าข้าม พร้อมมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้พร้อมลงมือปฏิบัติจริง

นางดวงรัตน์ วงศ์สว่างศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าข้าม กล่าวถึงนโยบายในการบริหารงานโรงเรียนว่า โรงเรียนวัดท่าข้ามใช้หลักการ “นักเรียนสำคัญ ครูร่วมผลักดัน ผู้บริหารสนับสนุน ชุมชนมีส่วนร่วม” เพื่อให้โรงเรียนสะอาด บรรยากาศน่าอยู่ ครูสอนดี นักเรียนมีความสุข ทั้งนี้ เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ลงมือปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการ เป็นพื้นฐานของนักเรียนที่ควรสร้างให้เกิดเป็นนิสัย และน้อมนำให้นักเรียนยึดถือและปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“ผลงานที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐและเอกชน เช่น โครงการเปิดโลกกว้างพาน้องไปเที่ยวสู่เส้นทาง “พาน้องขึ้นดอยชวนน้องลงเล” และโครงการที่เด่นชัดและทำต่อเนื่องมา 2 ปี แล้ว ได้แก่ โครงการ “บวร” รวมใจ สร้าง “จิตอาสาวัยใสใส่ใจผู้สูงอายุบ้านท่าข้าม ปี 2”

IMG_1016

ทั้งนี้ เนื่องจากโรงเรียนวัดท่าข้ามได้ตระหนักถึงการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุจึงได้จัดทำโครงการ “บวร” รวมใจสร้าง “จิตอาสาวัยใส” ใส่ใจผู้สูงอายุบ้านท่าข้าม ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมสุขภาวะและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุแบบองค์รวมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนโรงเรียนวัดท่าข้าม ได้มีส่วนร่วมในการดูแลและเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ สร้างจิตสำนึกและปลูกฝังให้เกิดมีทัศนคติที่ดี โดยได้รับความร่วมมือ จากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ผู้นำชุมชน เจ้าอาวาสวัดท่าข้าม และได้ประสานกับคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงเรียน เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้โรงเรียนวัดท่าข้ามได้มุ่งเน้นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบาย ของ คสช. ให้กับเยาวชนโดยเฉพาะความกตัญญูรู้คุณ และส่งเสริมให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการใช้ศักยภาพของตนเองในการดูแลผู้สูงอายุอย่างแท้จริง เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างผู้สูงอายุกับนักเรียนมากยิ่งขึ้น

ด้านมุมมองการศึกษาไทยในปัจจุบัน นางดวงรัตน์ มองว่า ยังมีความเชื่อว่าการทำงานแบบมีส่วนร่วมเป็นกระบวนการที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาของไทย โดยอาศัยบริบทในท้องถิ่น โดยมีโรงเรียนเป็นฐาน มีภาคเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต./เทศบาล) วัด ชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าข้าม ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มสมาชิกต่างๆ ของท้องถิ่น องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนการศึกษาได้ โดยมีการออกแบบเพื่อให้เกิดองค์ความรู้แก่นักเรียน ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางวิชาการ ทักษะทางสังคม ทักษะวิชาชีพ โดยยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการศึกษา ที่จะให้นักเรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข

IMG_1015

“เนื่องจากตัวเองได้เติบโตมากับครอบครัวที่มีบิดาและมารดารับราชการครู ในช่วงวัยเด็กได้ติดตามท่านทั้งสองไปทำงาน และบ่มเพาะตัวเองให้เกิดความรักในวิชาชีพครู โดยมีท่านทั้งสองเป็นแรงบันดาลใจ” นางดวงรัตน์เล่าถึงสาเหตุที่ตนเลือกมาเป็นข้าราชาการครู และกล่าวทิ้งท้ายในสิ่งที่ตนตั้งใจจะทำเพื่อการศึกษาไทยก่อนเกษียณอายุราชการว่า

“ในเวลาที่เหลืออยู่ ข้าพเจ้าได้พยายามสอดแทรกเรื่องราวของข่าวสารต่างๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบ มาคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียนให้เห็นถึงโทษภัย สิ่งไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร ซึ่งมองว่าภาวะเศรษฐกิจเดี๋ยวนี้ พ่อแม่จะไม่ค่อยมีเวลาอบรม สั่งสอน ชี้แนะเด็ก ว่าสิ่งไหนควรทำหรือสิ่งไหนไม่ควรทำ กับกาลเวลาที่เราอยู่ในยุคดิจิตัล เด็กควรบริโภคสื่อแบบไหน และควรไตร่ตรองเสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อหรือไม่ พร้อมทั้ง ให้นักเรียนนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการดำเนินชีวิต ด้วยการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม

สำหรับโรงเรียนวัดท่าข้ามได้เปิดการสอน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2481 โดยทางราชการได้แต่งตั้ง นายวัน ผดุงศักดิ์ เป็นผู้เปิดการสอนตามคำสั่งของแผนกศึกษาธิการ อำเภอหาดใหญ่ และมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนแรก ได้อาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่เรียน ชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลท่าข้าม 2 (วัดท่าข้าม) ต่อมา พ.ศ.2482 นายวัน ผดุงศักดิ์ ได้ย้ายจากโรงเรียนนี้ไป ทางราชการได้แต่งตั้งให้ นายมนัส เพชรขาว มาดำรงตำแหน่งแทน

IMG_1010

โรงเรียนวัดท่าข้ามนี้ได้เปิดทำการสอนติดต่อกันมาเป็นเวลา 18 ปี พระอธิการพลับ จันทโสภาคย์ เจ้าอาวาสวัดท่าข้าม พร้อมคณะครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ปกครองผู้เรียนได้พร้อมกันจัดหาเงิน เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน 1 หลัง 4 หลังเรียน โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ดำเนินการได้เงินก่อสร้างครั้งแรกจำนวน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 13กันยายน 2499 พร้อมกับดำเนินการก่อสร้าง แต่งยังไม่แล้วเสร็จ จนถึงปี พ.ศ.2500 ได้รับงบประมาณจากทางราชการเป็นเงิน 40,000 บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) จึงดำเนินการจนแล้วเสร็จ เงินค่าวัสดุก่อสร้างทั้งหมด 70,000 บาท (เจ็ดหมื่นบาทถ้วน) ไม่รวมค่าแรงในการก่อสร้าง และได้ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2501 พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็นโรงเรียนวัดท่าข้ามตั้งแต่นั้นมา

ปัจจุบันโรงเรียนวัดท่าข้าม มีครูประจำการ 5 คน รวม (ครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน) ครูอัตราจ้างขาดแคลนครูขั้นวิกฤติ 1 คน ครูอัตราจ้าง (งบประมาณโรงเรียน) จำนวน 1 คน เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน 1 คนนักการภารโรง 1 คน (งบประมาณโครงการไทยเข้มแข็ง) นักเรียน ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2560 จำนวน 63 คน มี นายสถาพร ศรีสัจจัง เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและมี นางดวงรัตน์ วงศ์สว่างศิริ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าข้าม

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=19979

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us