|

“ร.ร.บ้านโคกตก” น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

IMG_2347

โรงเรียนบ้านโคกตกเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มุ่งคุณธรรม จริยธรรม ครูและบุคลากรมีมาตรฐาน นำเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ได้คุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา ภายใต้การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นางละม้าย เงินนาค ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกตก กล่าวถึงนโยบายในการบริหารงานโรงเรียนบ้านโคกตก ว่า มีนโยบายการบริหาร คือ ใช้การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา สู่การพัฒนาสถานศึกษาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ จุดเด่นของโรงเรียนบ้านโคกตก คือ การทำงานเป็นทีมของบุคลากรที่เข้มแข็ง ชุมชนและทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษา อัตลักษณ์ของโรงเรียนที่เห็นได้ชัด คือ ซื่อสัตย์ รักการออม ทั้งยังมีเอกลักษณ์ของโรงเรียน คือ การแต่งกายสะอาด ละหมาดเป็นนิจ

IMG_2348

นางละม้าย เงินนาค ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกตก กล่าวถึงปัญหาที่พบบ่อยในโรงเรียนบ้านโคกตก ว่า ตลอดระยะเวลาในการบริหารงานโรงเรียนบ้านโคกตกพบปัญหาเรื่องการขาดเรียนและไม่ส่งงานในระดับมัธยม ใช้การแก้ปัญหาโดยการเยี่ยมบ้าน ในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อให้เข้าใจสภาพครอบครัว และช่วยจัดหาทุนในรายที่ฐานะยากจน จัดหารถบริการรับส่งสำหรับนักเรียนพื้นที่ห่างไกล ฯลฯ รวมทั้งจัดสอนโครงงานอาชีพเพื่อสร้างรายได้ จัดอบรมคุณธรรม จริยธรรมเพื่อสร้างวินัย ความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังปัญหาภาพรวมของปัจจัยพื้นฐาน คือ ระบบไฟฟ้าไม่เพียงพอ เนื่องจากมีไฟเพียง 2 เฟส และ ระบบน้ำยังอยู่ในขั้นจัดหางบประมาณมาเร่งปรับปรุงต่อไป

IMG_2344

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เข้ารับราชการที่ผ่านมา นางละม้าย เงินนาค ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกตก ได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจมากมาย อาทิ พ.ศ.2544 รางวัลเกียรติยศเข็มเชิดชูเกียรติ “เพชรยอดเสมา” ประเภทครูผู้สอนกลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพดีเด่น (สปจ.ยะลา), พ.ศ. 2545 บุคลากรต้นแบบการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ (สปช.), พ.ศ.2545 รางวัลเกียรติยศเข็มเชิดชูเกียรติ “เพชรยอดเสมา” ประเภทครูผู้สอนกลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพดีเด่น (สปจ.ยะลา), พ.ศ.2545 ประกาศเกียรติคุณ ประเภทข้าราชการครูสานงานการสอนเนื่องในวันประถมศึกษาแห่งชาติ, พ.ศ.2546 วิทยากรแกนนำระดับอำเภอการจัดทำและใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (สปจ.ยะลา), พ.ศ.2546 วิทยากรปรับประบวนทัศน์และพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา (สปช.), พ.ศ. 2547 “ครูดีในดวงใจ” (สพท.ยะลา เขต 2), พ.ศ.2552 “ครูดีศรีสะบ้าย้อย” (สพท.สงขลา เขต 3), พ.ศ.2552 “ต้นแบบครูดีศรีแผ่นดิน” (นสพ.ข่าวผู้นำ), พ.ศ.2553 รางวัลดีเด่น “การสร้างงานบุกเบิก” (ชมรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ สพป.ปัตตานี เขต 2), พ.ศ. 2553 เกียรติบัตรผู้ทำคุณประโยชน์ทางการศึกษาจากชมรมผู้บริหารและครูอำเภอมายอ พ.ศ.2555 “ครูดีในดวงใจ” (คุรุสภาเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 2 ), พ.ศ.2556 “เกียรติบัตรหนึ่งแสนครูดี”, พ.ศ.2557 “บุคคลต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา” และ พ.ศ.2560 “ผู้บริหารสถานศึกษาดีเด่น ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ประจำปี 2559”

IMG_2345

ด้านมุมมองการศึกษาในปัจจุบัน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกตก มองว่า นโยบายการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนไปแต่ละยุคสมัยในบางประเด็นเป็นไปในทางที่ดี แต่บางแง่มุมเปลี่ยนบ่อยตามกระแส อย่าลืมว่า “กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันท์ใด การศึกษาเป็นไปฉันท์นั้น…” ในการปฏิบัติจริงไม่สามารถให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาในเชิงประจักษ์ได้ในเวลาอันสั้น

สิ่งที่ควรตระหนักในการจัดการศึกษาในยุคไอทีก้าวไปอย่างรวดเร็ว คือ คุณธรรม จริยธรรม และความมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตนเองของนักเรียน อันจะนำไปสู่ทักษะชีวิต ทักษะสังคมและการมีชีวิตที่ดีและเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป เพราะปัจจุบันนี้เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้จักคำว่ารอคอย อดทน และขาดเหตุผล เป็นสิ่งที่สถาบันครอบครัวต้องหันมาดูแล ใส่ใจบุตรหลานไปพร้อมๆ กับสถาบันการศึกษา

และมุมมองเชิงบวกในทางกลับกัน เด็กกล้าแสดงออกและตัดสินใจ ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากสื่อต่างๆ ทำให้เรียนรู้ได้ง่ายซึ่งควรจัดระบบหรือขอบเขตการเรียนรู้ที่ควบคู่คุณธรรมนั่นเอง

IMG_2346

“ชีวิตราชการที่เหลือคือการทุ่มเทพัฒนาการศึกษาให้กับบ้านเกิด ให้มีความทัดเทียมกับพื้นที่อื่นๆ และยังคงมุ่งมั่นทำงานสืบสานปณิธานของพระราชบิดาได้พระราชทานไว้แก่นิสิตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดังกล่าวว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพให้บริสุทธิ์” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกตก กล่าวถึงสิ่งที่ตั้งใจอยากจะทำก่อนเกษียณอายุราชการ

IMG_2343

สำหรับโรงเรียนบ้านโคกตก เปิดสอนครั้งแรกเมื่อ วันที่ 16 พฤษภาคม 2480 มีชื่อว่าโรงเรียนประชาบาล ตำบลสะบ้าย้อย มีนายซ่วน แซ่เตียว (นายเกษม) เป็นครูใหญ่คนแรก ปี 2482 ท้องถิ่นแยกการปกครองเป็นตำบลทุ่งพอ โรงเรียนก็เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนประชาบาล ตำบลทุ่งพอ ต่อมาทางราชการก็เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น โรงเรียนบ้านโคกตกตั้งแต่นั้นมา

ปัจจุบันในปีการศึกษา 2560 มีนักเรียน 360 คน จำนวน 15 ห้องเรียน มีครู 21 คน พนักงานราชการ 5 คน ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ 1 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน ครูจ้าง 1 คน ภารโรง 2 คน แม่ครัว 2 คน พนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงเรียน 1 คน รวมมีข้าราชการครูและบุคลากรทั้งสิ้น 34 คน “ตั้งใจเรียน เพียรทำดี มีวินัย” คือ คำขวัญประจำโรงเรียน

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=20259

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us