|

มรภ.สงขลา วางกรอบพัฒนานักศึกษา 4.0 ชูกิจกรรมสร้างประสบการณ์เรียนรู้-มีภูมิคุ้มกันชีวิต

21363578_1553881728002015_535846749_o

มรภ.สงขลา วางแนวทางพัฒนานักศึกษายุค 4.0 ปรับบทบาทจากเน้นสอนเพื่อความรู้ เปลี่ยนเป็นใช้กิจกรรมสร้างประสบการณ์ เพิ่มภูมิคุ้มกันชีวิต หวังปั้นบัณฑิตเก่ง ดี มีคุณค่าต่อสังคม ป้อนตลาดแรงงาน

อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาและคุณลักษณะบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการโครงการอบรมพัฒนานักศึกษา 4.0 เมื่อเร็วนี้ว่า มีจุดมุ่งหมายในการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนากำลังคนภายใต้โมเดล Thailand 4.0 เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยปรับเปลี่ยนบทบาทจากการสอนเพื่อให้ความรู้ ไปเป็นการพัฒนานักศึกษาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน ผ่านทางกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ควบคู่ไปกับจัดการศึกษาที่เน้นการลงมือปฏิบัติและสร้างคุณค่าจากสิ่งที่เรียนรู้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาสังคมและการดำเนินชีวิตมากกว่าแค่การเรียนรู้ในศาสตร์เท่านั้น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ดร.จิรวัฒน์ วีรังกร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะเทคนิคจุดเน้นการพัฒนานักศึกษาให้ทันยุค 4.0 พร้อมทั้งแนะนำการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนานักศึกษาแก่ผู้เข้าอบรม

21363612_1553872581336263_609692083_o

อาจารย์จิรภา กล่าวว่า การพัฒนานักศึกษาจะต้องทำควบคู่ไปกับงานด้านวิชาการ ปรับตัวและเตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่ สร้างความตระหนักให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ของประเทศ โดยยึดฐานคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งพัฒนานักศึกษาให้มีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม เริ่มตั้งแต่กำหนดนโยบาย วางแผนงาน โครงการ สนับสนุนงบประมาณ และพัฒนาบุคลากรด้านกิจการนักศึกษาให้เอื้อต่อการพัฒนานักศึกษาอย่างเหมาะสม  ดังนั้น มรภ.สงขลา จึงจัดอบรมในครั้งนี้ขึ้น โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลงานด้านพัฒนานักศึกษา เข้ารับข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนานักศึกษา และปรับกิจกรรมนักศึกษาในคณะ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ

ด้านผู้เข้าอบรมอย่าง ผศ.วีรชัย มัฏฐารักษ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา กล่าวว่า ขอขอบคุณวิทยากรที่ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของการพัฒนานักศึกษาเพื่อเตรียมตัวเป็นพลเมืองโลก จากแนวคิดภาพอนาคตในตลาดงานสำหรับบัณฑิตที่มีแนวโน้มน้อยลง ทว่ากลับมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ทำให้รู้สึกตื่นตัวมากขึ้นในฐานะอาจารย์ที่ต้องการให้บัณฑิตจบออกไปอย่างมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถ บุคลิกภาพ การอยู่ร่วมกันในสังคม หรือทักษะทางด้านต่างๆ เช่น ภาษาในการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ ตนในฐานะอาจารย์ผู้สอนที่มีผลต่อการพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิต ก็ควรปรับบทบาทหรือแนวทางพัฒนานักศึกษาให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย

21390482_1553881451335376_473392179_o

ผศ.วีรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ในฐานะที่ตนเป็นประธานหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม (ทล.บ.) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรในปีนี้ มีแนวคิดในการตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 เช่น เพิ่มเติมรายวิชาหรือเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับนวัตกรรม/เทคโนโลยีในหลักสูตร เดิมมีรายวิชาการเพิ่มผลผลิตในงานอุตสาหกรรม ปรับเป็นรายวิชาการเพิ่มผลผลิตและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งจัดรูปแบบการเรียนการสอนในรายวิชาโครงงานพิเศษเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรมและรายวิชาอื่นๆ ในหลักสูตร ให้มีจุดเน้นนำเสนอนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการแบบสมัยใหม่ ส่วนการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของนักศึกษา ได้เสนอโครงการเพื่อการจัดการเรียนการสอน โดยในปีงบประมาณ 2561 นำเสนอโครงการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน ภายใต้ชื่อ SPOT (Tech Student Project One Tambon) มีแนวคิดมาจากโมเดล OTOP ซึ่งไทยได้แนวคิดมาจากโมเดล OVOP ของญี่ปุ่น คาดว่าจะสามารถตอบโจทย์การพัฒนานักศึกษา 4.0 ได้ในระดับหนึ่ง

21392806_1553881481335373_463300674_o

ขณะที่ นายแวอัซมัน  แวมูซอ นักวิชาการศึกษา รับผิดชอบงานด้านพัฒนานักศึกษา ประจำคณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา ผู้เข้าอบรมอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า หลักคิด Thailand 4.0 ง่ายๆ คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่นยืน หากนำมาเปรียบกับสถาบันการศึกษาแล้ว อาจเทียบได้กับการพัฒนาบัณฑิตที่สามารถก้าวทันเทคโนโลยีแห่งยุค ก้าวทันนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งทางด้านการศึกษา การดำรงชีวิต และสังคม เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยความมั่นคง และสามารถดำรงตนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว การนำแนวคิด Thailand 4.0 มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนานักศึกษาภายในคณะ ทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและสอดแทรกนวัตกรรม เทคโนโลยี และหลักคิดในการพึ่งตนเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ของคำว่า พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน พร้อมทั้งมีคุณธรรมจริยธรรมในตัวเอง

21392921_1553881738002014_1364771748_o

นายแวอัซมัน กล่าวอีกว่า จากการเข้าประชุมอบรมในครั้งนี้ ทำให้ตนได้แนวคิดในการพัฒนานักศึกษา โดยจำแนกออกตามชั้นปี ดังนี้ ปี 1 สอดแทรกกิจกรรม Student Skill (ทักษะการเรียนรู้) การเป็นพลเมืองของสถาบัน การปฐมนิเทศระดับหลักสูตร การปรับพื้นความรู้ในการศึกษาสาขาวิชานั้น ๆ เพื่อให้นักศึกษาใหม่ตกออก หรือมีอัตราการลาออกน้อยลง และการจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้มากขึ้นเพื่อให้มีเพื่อนในการประคับประคอง ช่วยเหลือกันจนจบการศึกษา ส่วนปี 2 สอดแทรกกิจกรรม Survival Skill (การเอาตัวรอด) และ Multi Skill (ทักษะที่หลากหลาย) ทั้งในด้านจิตอาสา คุณธรรมจริยธรรม วิชาการ และนันทนาการ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน ภูมิรู้ในการเอาตัวรอด ปี 3 สอดแทรกกิจกรรมด้านการสื่อสาร Soft Skill (ทักษะความเป็นมนุษย์) และ Hard Skill  (ทักษะทางวิชาการ) เพื่อให้นักศึกษาสามารถต่อยอดในการเตรียมฝึกประสบการณ์ และ ปี 4 สอดแทรกกิจกรรม Creative & Critical & Analysis Thinking Skill (ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์) การใช้คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ภายในสำนักงาน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ/สหกิจศึกษา ซึ่งตนจะนำเสนอแนวคิดนี้ให้ทางคณะฯ พิจารณา เพื่อพัฒนานักศึกษาให้สามารถปรับตัวได้ตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าและทำกิจกรรมต่อยอด เอาตัวรอดในตลาดแรงงานได้

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=20851

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us