|

โพลเผยเมื่อพูดถึง ม.อ. “โรงพยาบาล และ พระบิดา” คือสิ่งที่ชาวใต้นึกถึงอันดับแรก

Pic_poll_9

ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะครบ 50 ปี แห่งการสถาปนา ในเดือนมีนาคม 2561 ม.อ.โพล ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จากทุกเพศ อายุ ระดับการศึกษา และอาชีพ จำนวน 1,335 ตัวอย่าง ในหัวข้อ “50 ปี ม.อ. กับความ คิดเห็นของพี่น้องชาวใต้” ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 30 ตุลาคม 2560 โดยสอบถามถึงความจุดเด่น คาดหวัง การรับรู้ และ สิ่งที่นึกถึงสิ่งแรกเมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ในประเด็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยนั้น พบว่าสอดคล้องกับภารกิจ ทั้ง 4 ด้านของมหาวิทยาลัย โดยประชาชนภาคใต้ มองว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีความเด่นด้านการเรียนการสอน การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพรับใช้สังคมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 35.10 รองลงมาคือ ด้านการศึกษาค้นคว้า งานวิจัย และพัฒนานวัตกรรม คิดเป็นร้อยละ 34.70 ตามด้วยด้านบริการวิชาการแก่สังคม ถ่ายทอดวิชาการและวิชาชีพ และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ

อย่างไรก็ตาม ชาวภาคใต้ก็ยังมีความคาดหวัง ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อให้ท้องถิ่นและลูกหลานได้มีการพัฒนายิ่งขึ้น โดยที่คาดหวังมากที่สุด คือการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศ รองลงมา คือ การจัดการเรียนการสอนให้ทัดเทียมนานาชาติ การสนับสนุนทุนการศึกษาค้นคว้าวิจัย  การส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าช่วยเหลือชุมชน การแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ การส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น การนำผลงานวิจัยไปใช้พัฒนาชุมชน การเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชุมชน การจัดฝึกอบรมทางวิชาการและวิชาชีพ และการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของมหาวิทยาลัย

มีประเด็นที่น่าสนใจ คือสิ่งที่คนภาคใต้ “นึกถึง” เป็นอันดับแรกเมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ นึกถึงโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และการรักษาพยาบาล อันดับต่อมาคือ สมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์  แพทย์และพยาบาล โดยพบว่า งานเกษตรภาคใต้ ซึ่งเป็นงานประจำปีจัดโดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ ถูกนึกถึงเป็นอันดับที่ 4 และในอันดับ 5 เมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเฉพาะวิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้ตอบแบบสอบถามจะนึกถึงพื้นที่จอดรถซึ่งมีอยู่จำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนรถยนต์ของบุคลากรและผู้มาติดต่องานหรือใช้บริการของมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจได้มีการรับรู้ข่าวสารของ มหาวิทยาลัยผ่านช่องทาง สื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 49.40 รองลงมาคือ สื่อบุคคล เช่น ผู้นำชุมชน เพื่อนบ้าน ผู้ปกครอง บุคคลในครอบครัว บุคลากรมหาวิทยาลัย และ สื่อเฉพาะกิจ เช่น วารสาร ป้ายประชาสัมพันธ์ แผ่นปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ เป็นต้น

 

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=22113

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us