|

กรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับฤดูฝนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้

PNEWS17101414113300901

อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ จ.สงขลา จัดประชุมระดมสมองจากหน่วยงานภาครัฐในภาคใต้ ร่วมบูรณการเตรียมความพร้อมรับฤดูฝนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ พร้อมติดตามความก้าวหน้าสิ่งกีดขวางทางน้ำ 111 แห่ง และกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน เพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 60 ที่ สำนักงานชลประทานที่ 16 สงขลา ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมระดมสมองจากหน่วยงานภาครัฐในภาคใต้ ร่วมบูรณการเตรียมความพร้อมรับฤดูฝนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ พร้อมติดตามความก้าวหน้าสิ่งกีดขวางทางน้ำ 111 แห่ง และกำหนดหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน เพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยมี นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ อาทิ นายธีระเทพ เทพสุยะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา นายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ฯลฯ ร่วมให้การต้อนรับ

PNEWS17101414113300906

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ช่วงปลายปี 2559-ต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องมาเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือในช่วงฤดูฝนในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานติดตามผลงานการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผน โดยได้จัดประชุมเพื่อเตรียมแผนป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยภาคใต้ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2560 ณ สำนักงานประทานที่ 16 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

PNEWS17101414113300910

ในที่ประชุมครั้งนี้ ผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศในพื้นที่ภาคใต้เดือนพฤศจิกายน 2560 ว่า จะมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป อาจจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง คลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงในบางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร และอาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านภาคใต้ในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคใต้มักจะประสบกับปัญหาในการระบายน้ำ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของภาคใต้ มีลักษณะภูมิเทศเป็นแนวสันเขาพาดยาวลงไปขนานกับแนวชายฝั่งทะเล เป็นที่ลุ่มต่ำริมทะเล มีแนวถนนและทางรถไฟวางคู่ขนานระหว่างแนวสันเขาและชายฝั่งทะเล ทำให้เมื่อฝนตกเกิดน้ำหลากจากพื้นที่เชิงเขาลงมา ไม่สามารถระบายน้ำได้ดี เนื่องจากมีถนนและทางรถไฟ เป็นอุปสรรคกีดขวางการระบายน้ำ ซึ่งกรมชลประทานได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำเมื่อต้นปี 2560 นี้ พบว่ามีสิ่งกีดขวางทางน้ำหลัก จำนวน 111 แห่ง วงเงิน 1,111.27 ล้านบาทซึ่งได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุง ซึ่งในวันนี้ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พบว่า ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 18 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 75 แห่ง และขอยกเลิก 18 แห่ง

PNEWS17101414113300913

นอกจากนั้น ปัญหาหลักสำคัญของการระบายน้ำในพื้นที่ภาคใต้ยังรวมไปถึงสภาพการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อจำกัดการรับน้ำของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ความสามารถกักเก็บน้ำไม่เพียงพอต่อปริมาณฝนที่ตกลงมา ประกอบกับได้รับอิทธิพลของน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำที่ไหลจากพื้นที่ตอนบนออกสู่ทะเลได้ช้าในช่วงน้ำทะเลขึ้นสูง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำติดทะเล และพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ท่วมเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน โดยมีหน่วยงานฝ่ายปกครองในพื้นที่ โดยเฉพาะกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานกลางที่จะทำหน้าที่แจ้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไปยังประชาชนอย่างท่วงที

PNEWS17101414113300915

ในส่วนของกรมชลประทานได้ให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยเน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และให้ตรวจสอบระบบชลประทานให้มีความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆในพื้นที่ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด การวางแผนผันน้ำเลี่ยงพื้นที่ชุมชนเมืองและเขตเศรษฐกิจ การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ให้อยู่ในพื้นที่และพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นเตรียมพร้อมที่จะระบายน้ำได้อย่างทันท่วงทีด้วย นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน บูรณาการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนประชาชนให้รับมือได้ทันเวลา อนึ่ง กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือกล ประกอบด้วย 1. เครื่องสูบน้ำที่ประจำอยู่ที่สำนักงานชลประทาน 4 แห่ง จำนวน 250 เครื่อง 2. เครื่องสูบน้ำที่อยู่ที่สำนักเครื่องจักรกล 1,101 เครื่อง 3. เครื่องผลักดันน้ำ 263 เครื่อง

PNEWS17101414113300920

PNEWS17101414113300925

สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=22116

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us