|

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. พัฒนาเครื่องมือวัดความชื้นไม้ยางพารา

Untitled

ไม้ยางพาราเป็นที่ต้องการของท้องตลาด ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน ของเล่น วัสดุก่อสร้าง และรังใส่ของ เนื่องจากไม้ยางพาราเป็นไม้ที่มีเนื้อค่อนข้างแข็ง น้ำหนักเบา เนื้อไม้มีสีขาวนวล มีลวดลายที่สวยงาม อีกทั้ง มีการเพาะปลูกปริมาณมาก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น ก่อนการนำไม้ยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้นั้นจะต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆ หลายขั้นตอน หนึ่งในขั้นตอนการผลิตที่สำคัญคือการอบไม้ยางพารา เนื่องจากไม้ที่เพิ่งตัดใหม่ๆ จะมีความชื้นค่อนข้างมาก รวมถึงการใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ ทำให้มีน้ำในเนื้อไม้มาก เกิดปัญหาการยืดหรือหดตัวของไม้ และเกิดปัญหาการแตกที่ผิวและภายในเนื้อไม้ และการบิดงอ ก่อนที่จะนำไม้ไปใช้ประโยชน์จึงต้องผ่านการอบเพื่อให้ไม้มีความชื้นที่เหมาะสม การหาความชื้นไม้ยางพาราด้วยวิธีดั้งเดิมคือการใช้ตู้อบ แล้วหาความแตกต่างระหว่างน้ำหนักไม้ก่อนอบและหลังอบ เทียบกับน้ำหนักไม้หลังการอบแห้ง ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้เวลามาก ไม่สะดวกในการประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรม จึงได้มีการคิดค้นเครื่องมือวัดความชื้นแบบที่สามารถรายงานผลได้อย่างทันดีทันใด ซึ่งเครื่องมือที่มีขายในท้องตลาด จะเป็นแบบการใช้เครื่องมือวัดความชื้นปักลงบนผิวหน้าไม้ แล้ววัดความชื้นในรูปแบบความต้านทานของเนื้อไม้ ค่าที่ได้จะแสดงผลความชื้นออกมาเป็นแบบดิจิตอล โดยความต้านทานสูงบ่งบอกความชื้นต่ำ ซึ่งเครื่องมือวัดที่ใช้หลักการนี้มีข้อจำกัดในด้านการออกแบบวงจรปรับแต่งสัญญาณ โดยเฉพาะในช่วงค่าความชื้นต่ำๆ ที่ทำได้ยาก ทำให้ค่าความชื้นที่ได้มีข้อผิดพลาดสูง และค่าที่ได้นั้นเป็นค่าความชื้นเฉพาะที่จุดของเนื้อไม้ที่ทำการวัดเท่านั้น และการใช้เครื่องมือแบบปักลงในเนื้อไม้ยังเป็นการทำลายเนื้อไม้

รศ.คณดิถ เจษฎ์พัฒนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้พัฒนาเครื่องมือวัดความชื้นไม้ยางพาราซึ่งสามารถบ่งบอกค่าความชื้นของเนื้อไม้ได้ในภาพรวม โดยการนำแผ่นวงจรพิมพ์ที่กัดเป็นลวดลายต่างๆ มาวางลงบนผิวหน้าของไม้ยางพารา เครื่องมือวัดนี้ลดข้อจำกัดการวัดความชื้นที่ช่วงค่าความชื้นต่ำๆ ที่เครื่องมือวัดความชื้นชนิดปักลงบนเนื้อไม้ไม่สามารถวัดได้ และได้มีการเปรียบเทียบค่าที่วัดได้กับเครื่องมือวัดความชื้นที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมว่าค่าที่วัดได้มีค่าใกล้เคียงกัน เป็นการสร้างเครื่องมือวัดที่ใช้งานได้จริงและพัฒนาองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์เพื่อลดการนำเข้าครื่องมือวัดที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ ซึ่งเครื่องมือวัดนี้ได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว และอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการทดสอบเครื่องมือใช้ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง และสร้างระบบอัจฉริยะให้กับตัวเครื่องมือวัดที่สามารถใช้วัดความชื้นของวัสดุอื่นๆ ได้

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=22225

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us