|

คนละก้าวเมืองเก่าสงขลา “มรดกเรา” ก้าวสู่ “มรดกโลก”

เมืองสงขลาได้ชื่อว่าเมืองสองทะเล เนื่องจากอยู่บนคาบสมุทรที่ขนาบด้วยอ่าวไทย และทะเลสาบสงขลา ปากอ่าวยังมีภูเขาช่วยกำบังคลื่นลมเหมาะแก่การจอดเรือ จึงเป็นเมืองท่าการค้าระดับนานาชาติมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนบุรีการค้ากับจีนเจริญรุ่งเรือง เพราะเจ้าเมืองเป็นคนจีน แต่ด้วยปัญหาขาดแคลนน้ำที่แหลมสน ทำให้พระยาวิเชียนคีรี ย้ายเมืองมาที่ ต.บ่อยาง โดยยังคงเป็นเมืองท่าที่สำคัญมาจนถึงช่วงราชกาลที่ 5 ก่อนที่จะค่อยๆ ชบเซาลง เพราะเส้นทางหลักเปลี่ยนเป็นทางบก และทางอากาศ

24993182_1781698188531391_6921130794846691219_n

แต่ด้วยความเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองมายาวนาน จึงมีผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมเข้ามาอาศัย ได้แก่ชาวมุสลิมที่ตั้งรกราก ตั้งแต่ฝั่งหัวเขาแดง ชาวจีนที่มาค้าขาย และอพยพมาขายแรงงาน และชาวไทยมาลายูที่เป็นคนพื้นถิ่น ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม ทำให้ย่านเมืองเก่าสงขลาในปัจจุบันจึงเต็มไปด้วยอาคาร ร้านรวง และสถานที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งล้วนมีสถาปัตยกรรมที่งดงาม มีเรื่องราวบอกเล่าถึงอดีตอันรุ่งเรืองของเมืองท่าการค้าแห่งนี้ มีถนนสายสั้น ๆ เชื่อมกันให้เดินไปสัมผัสบรรยากาศร่องรอยความเจริญ และความคึกคักของย่านกาค้าและวัฒนธรรมที่หลากหลายสะท้อนอยู่ในอาคารบ้านเรือน ดังเช่น ตึกแถวแบบจีนดั่งเดิมหรือแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอาร์ตเดโด อาร์ตนูโว อาคารสไตล์ไทยมุสสิมที่ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายรวมทั้งอาคารโคโลเนียลที่ผสมศิลปะจีนและพื้นถิ่น ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเก็บผูกติดเรื่องราวและความประทับใจกลับมาบอกใครต่อใครได้ว่า “กาลหนึ่ง” ที่เคยมาเยือนสงขลา

24909698_1781697658531444_4450957822301280861_n

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดสงขลา เห็นความสำคัญ และพยายามผลักดันให้ย่านเมืองเก่าสงขลา ก้าวไปสู่การเป็นเมืองมรดกโลก และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไว้คอยตอนรับนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับวันที่ 10 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา, ตัวแทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นายรังษี รัตนปราการ ประธานภาคีเครือข่ายภาคีคนรักเมืองสงขลา ได้เปิดงาน “กาลครั้งหนึ่ง สงขลา” ที่โรงหับโหหิน หรือโรงสีดีแดง เพื่อย้อนความทรงจำ บน 3 ถนน และส่งเสริมการท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าสงขลา ให้มีความคึกคักมากขึ้น โดยภายในงานได้นำร้านขนม ของดีเมืองสงขลามาแสดงให้นักท่องเที่ยวชม และชิมกันอีกด้วย อย่างเช่น ขนมบอก, ขนมบูตู, เถ้าคั่ว, ข้าวมันแกงไก่ ที่ล้วนเป็นขนม และอาหารที่มีตำนานยาวนานแล้ว

กาลครั้งหนึ่ง

“เมืองเก่าสงขลา” นอกจากเรื่องของผู้คนในอดีตกาลแล้ว ยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกมากมาย ที่บ่งบอกถึงความเป็นเมืองสงขลาผ่านพหุวัฒนธรรมอีกมากมาย แต่ “สมิหลาไทมส์” ไม่ได้มา “ขายทัวร์” ดังนั้น เนื้อที่ตรงนี้ จึงขอแนะนำแต่สถานที่ ที่ยังไม่มีใครค่อยได้รู้จักกัน

อย่างแรกวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร วัดเก่าแก่กว่า 400 ปี ในโบสถ์มีจิตกรรมฝาผนังอันสวยงาม พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิญาณวโรรส นำช่างสิบหมู่มาวาดร่วมกับช่างถิ่น, มัสยิดอุสาสนอิสลาม (มัสยิดบ้านบน) เป็นมัสยิดทรงไทย สร้างโดยช่างชาวไทยมุสลิมกลุ่มเดียวกับวัดมัชฌิมาวาส โดยรัชกาลที่ 5 พระราชทานเงินสนับสนุนการสร้าง, วัดโพธิ์ปฐมมาวาส วัดเก่าแก่ เดิมชื่อวัดโภค์ มาจากบริเวณที่ตั้งเป็นสถานที่ค้าโภค์ หรือตลาดนัด ภายในโบส์มีงานจิตกรรมบนเสารูปต้นไผ่ ฝีมือช่างพื้นถิ่น ซึ่งไม่เคยพบที่ใดมาก่อน , พิพิธภัณฑ์ ธำมรงค์ จำลองสถานที่เกิดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จากความทรงจำของท่านเอง สมัยที่บิดาดำรงตำแหน่ง “พธำมะรงค์” หรือพัสดีเรือนจำสงขลา, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา สร้างปี 2421 สถาปัตยกรรมจีนผสมยุโรป เดิมเป็นบ้านของพระยาสุทนทร นุรักษ์ ผู้ช่วยเจ้าเมืองสงขลา  นาแวะชมเครื่องเรือนจีน และงานพื้นบ้าน, กำแพงเมืองสงขลา ยาว 1,200 เมตร สร้างพร้อมประตูเมืองในปี 2379 สมัยพระยาวิเชียรคีรี  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานยกเลิกภาษีอากรเมืองสงขลา 2,000 ชั่ง ให้สร้างป้อมปราการและกำแพงนี้  สร้างแล้วเสร็จปี 2385

มาเมืองเก่าสงขลาอย่างหนึ่งที่ห้ามพลาดนั้นคือ ชมความยิ่งใหญ่ ของโรงสีแดง หรือ หับโห่หิน ที่สร้างปี 2464 โดย ขุนราชกิจการีย์  ใช้สังกะสีเนื้อหนาจากประเทศไอร์แลนด์ในอดีต คือโรงสีข้าวขนานใหญ่ มีปล่อยไฟสูง 34 เมตร ปัจจุบันเป็นสำนักงานของกลุ่มภาคีเครือข่ายคนรักสงขลา ซึ่งภายในนอกจากที่มีรอยที่สามารถย้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองสะท้อนวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนแล้ว ที่นี้ยังเป็นศูนย์กลางในการขยายผล ร่วมกับภาครัฐ อย่างสำนักงานท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ และ อบจ.สงขลา ให้คนรุ่นหลังได้ซึมซับกับร่องรอยมรดกที่บรรพบุรุษเราได้ทิ้งเอาไว้ พร้อมหวังว่าจะขับเคลื่อนให้เมืองเก่าสงขลาเป็น “มรดกเรา” เพื่อที่จะไปสู่ “มรดกโลก” ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้อันใกล้นี้ ….

 

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=23897

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us