|

มรภ.สงขลา เตรียมจัดตั้งหน่วยวิจัย บูรณาการความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชน

ผศ.ดร.สายฝน ไชยศรี ให้รายละเอียดเรื่องหน่วยวิจัย

มรภ.สงขลา เตรียมพร้อมจัดตั้งหน่วยวิจัย บูรณาการความรู้ทุกแขนงถ่ายทอดสู่ชุมชน เน้นผลงานใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมตีพิมพ์เผยแพร่ระดับชาติ เชื่อหากทำได้จะสร้างอิมแพ็คอย่างมากต่อสังคม

ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า มรภ.สงขลา กำลังเตรียมออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดตั้งและการบริหารหน่วยวิจัย เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายให้การสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยให้มีทิศทางที่ชัดเจน เน้นนำผลการวิจัยไปตีพิมพ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งการเกิดขึ้นของหน่วยวิจัยจะช่วยพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในศาสตร์สาขาต่างๆ เชิงบูรณาการ ก่อให้เกิดความเข้มแข็งและสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้เกิดการแสวงหาทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอก นำไปสู่การเผยแพร่ผลงานวิจัยให้เป็นที่ประจักษ์ อาทิ ผลงานวิจัยตีพิมพ์สิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ที่มีผลต่อการพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น เป็นต้น

นักวิจัยซักถามในบางประเด็น

ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งหน่วยวิจัยนั้น ต้องมีนักวิจัยตามคุณสมบัติที่กำหนดไม่น้อยกว่า 3 คน และสามารถสังกัดได้ไม่เกิน 2 หน่วยวิจัย มีการบูรณาการศาสตร์สาขาต่างๆ และมีแผนดำเนินงานของหน่วยวิจัยอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง 4 ปี ซึ่งภายใน 2 ปีหลังจากลงนามในสัญญาจะต้องมีโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทอย่างน้อย 1 โครงการ และจะต้องมีผลงานตีพิมพ์/ตอบรับตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ ที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 1 หรือที่มีชื่อปรากฏอยู่ในประกาศ  สมศ. สกอ. และ สกว. หรือระดับนานาชาติที่ปรากฏในฐานข้อมูลการจัดอันดับวารสาร SJR (SCImago Journal Rank : www.scimagojr.com) หรือมีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ปรากฏในฐานข้อมูล ISI หรือ Scopus หรือมีการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไม่น้อยกว่า 2 ชิ้นงาน หรือมีการสร้างรายได้จากผลงานวิจัยในเชิงพาณิชย์

23550988_1776961935649320_8552202404955088200_o

ด้าน ผศ.ดร.สายฝน ไชยศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยและรับใช้สังคม สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า การรวมกันเป็นหน่วยวิจัยจะก่อให้เกิดอิมแพ็คอย่างมากต่อสังคม ตัวอย่างเช่น ทำวิจัยเรื่องข้าว นักวิจัยจากคณะเทคโนโลยีการเกษตรอาจศึกษาพันธุ์ข้าว คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำข้าวที่ได้ไปแปรรูป คณะวิทยาการจัดการดูแลเรื่องแพ็คเกจและการจำหน่าย ส่วนคณะศิลปกรรมศาสตร์คิดค้นออกแบบท่ารำเกี่ยวกับข้าว ขณะที่คณะครุศาสตร์นำไปสอนนักศึกษาเพื่อถ่ายทอดต่อสู่โรงเรียนในพื้นที่ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าจุดเด่นของหน่วยวิจัยคือมีความหลากหลายของศาสตร์แต่ละแขนง ที่มารวมตัวกันและบูรณาการความรู้ที่มีจนออกมาเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพ ซึ่งในอนาคตหากมีหน่วยวิจัยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากก็อาจพัฒนาเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยประจำ มรภ.สงขลา ต่อไป

23549992_1776961712316009_3472591192925003992_o

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=24918

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us