|

 “ความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม”

26943590_2279066605452202_757781084_n

สมัยเรียนวิชากฎหมายที่สำนักวิชามสธ. อาจารย์ประจำวิชากฎหมายทุกรายวิชามักจะไม่ออกข้อสอบเพื่อทดสอบความรู้ ความจำ และความเข้าใจเกี่ยวกับแม่บทของมาตรานั้นๆ แต่อาจารย์มักจะเลี่ยงไปออกข้อยกเว้นของมาตรานั้นๆแทน ทั้งข้อสอบปรนัยและข้อสอบอัตนัย เพราะอาจารย์แต่ละท่านเชื่อว่าแม่บทของกฎหมายมาตรานั้นๆทุกคนที่เรียนกฎหมายย่อมแม่นในสาระสำคัญอยู่แล้ว แต่ข้อยกเว้นคือจุดสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินคดีความไม่ว่าในฐานะพนักงานสอบสวน อัยการ ทนายความหรือผ้พิพากษาโดยเฉพาะทนายความและพนักงานสอบสวน

เมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรม กฎหมายและการยังคับใช้กฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมเพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายล้วนเพื่อสร้างความสงบสุขในสังคม ปกป้องผู้บริสุทธิ์หรือสุจริตชนจากการเบียดเบียนของมิจฉาชีพหรือคนชั่ว การตีความกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานและเจตนาเพื่อสร้างความสงบสุขและความเป็นธรรมในสังคมเป็นสำคัญ

ความผิดพลาดบกพร่องหรือจุดด่างพร้อยของกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก มาจากความไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นธรรม ไม่เสมอภาคของการบังคับใช้กฎหมาย เกิดความลำเอียง บิดเบือนข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยใช้ความได้เปรียบในฐานะผู้ถือกฎหมาย รู้กฎหมาย(ข้อยกเว้น) มารังแกคนที่ด้อยโอกาสกว่า

ในสังคมไทย มีคำกล่าวแบบติดลบต่อกระบวนการยุติธรรมว่า “กินขี้หมาดีกว่าค้าความ” หมายถึงยอมผือดผะอมกับการกินขี้หมาดีกว่ามีคดีความกับใครเพราะรังแต่จะเสียหายทั้งทรัพย์สิน เวลา และความสัมพันธ์อันดีจิปาถะ

คนใต้ยุคก่อน มีคำกล่าวติดหูติดปากว่า “นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา” คือมองว่า “นาย”หรือคนที่มีอำนาจทางกฎหมายหรือถือกฎหมายเป็นคนอันตรายทั้งอยู่ใกล้ชิดหรืออยู่ห่างๆ

ความจริงสังคมมนุษย์มีกฎอย่างอื่นมาก่อนที่จะมีกฎหมายในการดำเนินชีวิต กฎแรกๆก็คือ “กฎธรรมชาติ” เกิด แก่ เจ็บ ตาย การสืบพันธุ์ การขับถ่าย ฯลฯ และ “กฎศีลธรรมทางศาสนา” โดยเฉพาะ “กฎแห่งกรรม”

ในอดีต ยุคที่มนุษย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าทางวิทาศาสตร์และเทคโนโลยีมากมายเช่นในปัจจุบัน กฎธรรมชาติและกฎศีลธรรมสามารถจะควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ให้อยู่ในร่องในรอยได้ โดยไม่เกิดความเดือดร้อนเสียหายมากมายนัก แต่ครั้นโลกเจริญก้าวหน้า และปัญหาสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น กฎธรรมชาติและกฎแห่งศีลธรรมไม่เพียงพอที่จะควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ จึงกำเนิดกฎหมายที่มีพื้นฐานอยู่บนกฎธรรมชาติและกฎแห่งศีลธรรม แต่มีบทลงโทษที่ชัดเจนและรุนแรงกว่าถึงขั้นประหารชีวิต

นักคิด นักปรัชญาทางกฎหมายของโลกหลายท่านได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายไว้อย่างน่าสนใจ ควรที่ผู้ใช้กฎหมายพึงตระหนักไว้ เช่น

“ศีลธรรมจรรยาของประชาชนคือกฎหมายสูงสุด” เป็นแนวความคิดเชิงประชาธิปไตยของปวงชนว่า ศีลธรรมและจรรยาบรรณของประชาชนนั่นแหละคือกฎหมายสูงสุด หรือสำคัญกว่ากฎหมายอื่นใด แม้แต่รัฐธรรมนูญ

“วัตถุประสงค์สำคัญ ๒ ประการของกฎหมายคือ ๑) ยุติธรรม ๒) บริหารอย่างเป็นธรรม” แต่เวลานำไปสู่การปฏิบัติ เรามักเห็นผลในทางตรงกันข้ามเสมอ โดยเฉพาะเมือคู่กรณีคือใช้อำนาจรัฐกับประชาชนธรรมดาสามัญ

“เมื่อกฎหมายใดมีข้อความเป็นที่สงสัยหรือคลุมเครือ จะต้องตีความในทางที่กฎหมายนั้น มีความเป็นธรรม” แต่ในทางปฏิบัติมักจะเห็นการตีความแบบเอียงข้างอำนาจรัฐเสมอเพราะคนตีความก็อยู่ภายใต้อำนาจรัฐหรือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐนั่นเอง  เช่น ไปตีความว่า “คันธง มีสภาพเป็นอาวุธในการชุมนุมของชาวบ้าน”เพื่อจะบอกว่าการกระทำของชาวบ้านไม่เข้าข่ายการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ เป็นต้น

“ความแข็งกระด้างของกฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม แต่เป็นความอยุติธรรมหรือการปฏิเสธความยุติธรรม” ผู้ใช้อำนาจรัฐมักใช้กฎหมายแบบแข็งกระด้างเป็นอาวุธในการป้องปรามประชาชนไม่ให้แข็งข้อต่อความอยุติธรรมของรัฐในฐานะผู้ได้เปรียบเสมอ เช่น ใช้กฎหมายจราจรทางบกมาเล่นงานชาวบ้านที่เดินเท้าบนถนนร่วม ๘๐ กิโลเมตรเพื่อไปบอกเล่าความทุกข์แก่นายกรัฐมนตรีของพวกเขา เป็นต้น

“อยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่เหมือนกันได้รับการปฏิบัติไม่เหมือนกัน และสิ่งที่แตกต่างกันได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน” เราจะเห็นได้จากปะทะกับอำนาจรัฐในการคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ฝ่ายคัดค้านจะถูกดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายในทุกวิถีทาง แต่ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลกลับได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตั้งแต่ยานพาหนะเดินทาง อาหารการกิน ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมแสดงพลังสนับสนุน เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ใช้กฎหมายและผู้ใช้อำนาจรัฐต้องตระหนักและสำนึกเสมอว่า “เหตุผลคือวิญญาณของกฎหมาย เมื่อเหตุผลของกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป กฎหมายก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย”

นอกจากนั้น เวลาใช้กฎหมายพึงสำเหนียกว่า “ไม่มีกฎหมายใดที่ไร้ความยุติธรรม”เพราะ “กฎหมายกับความยุติธรรมต้องไม่ขัดแย้งกัน”และ “ความยุติธรรมคือเจตนารมณ์ของกฎหมาย”

สุดท้ายแล้ว “การประกอบความดีคือความยุติธรรม”มิใช่อะไรอื่นเลย

โดย จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=25770

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us