|

“คูเต่าวิทยา” โรงเรียนดีของชุมชน

IMG_6971

“โรงเรียนคูเต่าวิทยามุ่งมั่นจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน ปฏิบัติตนตามค่านิยม 12 ประการ น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเพรียงภูมิปัญญาไทยก้าวสู่ความเป็นสากลภายในปี 2561” วิสัยทัศน์โรงเรียนบ้านคูเต่าวิทยา ที่พร้อมเป็นโรงเรียนดีของชุมชน กับ 10 นโยบายในการบริหารงานของผู้อำนวยการโรงเรียน

นายโชคชัย ชัยธรรมโชค ผู้อำนวยการโรงเรียนคูเต่าวิทยา เปิดเผยถึงนโยบายถึงการบริหารจัดการการเรียนการสอนของโรงเรียนคูเต่าวิทยา ว่า “โรงเรียนคูเต่าวิทยาโรงเรียนดีของชุมชน” มีนโยบายในการบริหาร 10 นโยบาย ได้แก่ 1. น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผล 2. โรงเรียนน่าอยู่ พัฒนาภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม สื่ออุปกรณ์ เทคโนโลยี ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ 3. ครูคุณภาพ ส่งเสริมพัฒนาครูทุกมิติ 4. จัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ยั่งยืน โดยใช้ภาคีเครือข่าย 5. ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทุกรายวิชา แก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ลดปัญหานักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ 6. ส่งเสริมระเบียบวินัยนักเรียน 7. ป้องกันแก้ปัญหายาเสพติดและอบายมุขในสถานศึกษา 8. ส่งเสริม สนับสนุน การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของผู้เรียน 9. ระบบประกันคุณภาพและนิเทศภายในที่เข้มแข็ง 10. สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน องค์กร ภาคีเครือข่ายต่างๆ

IMG_6972

“การบริหารย่อมขึ้นกับข้อมูลบริบทของสถานศึกษา เราต้องทราบข้อจำกัด ข้อปัญหา และข้อพัฒนา โดยใช้หลักในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา การแก้ปัญหาก็คือการพัฒนาชนิดหนึ่งที่ต้องศึกษามุมมองอย่างรอบด้าน อาทิ บุคคล เวลา สถานที่ และทรัพยากรอื่นที่จำเป็น ทั้งนี้ ต้องแก้ให้ตรงจุด เกาให้ถูกที่คัน ถึงกระนั้นแม้ไม่หายคันก็ต้องใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นยาช่วย คือพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันบนเงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม อาจไม่คิดให้สุดโต่งเกินไป นโยบายที่ใช้ต้องสามารถบรรลุได้ ไม่ฟุ้งเฟ้อจนเกินไป ซึ่งผลงานและความภาคภูมิใจที่ได้รับประจำปี 2561 คือรางวัล MOE Award สถานศึกษา สาขา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในระดับดีมาก คือ การหลอมแนวคิดบุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างกิจกรรม 10 กิจกรรม เพื่อส่งเสริมนักเรียนให้ทราบ ตระหนัก และสามารถนำวิถีพอเพียงไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน, ผลงานในปี 2560 เกียรติบัตรผู้บริหารยอดเยี่ยม จาก สพม.16, ผลงานในปี 2559 เกียรติบัตรผู้บริหารดีเด่น จาก สพม.16”

IMG_6966

นายโชคชัย กล่าวถึงปัญหาในการบริหารงานโรงเรียนคูเต่าวิทยา ว่า ปัญหาในปัจจุบัน พบว่าผลกระทบส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาภายนอก อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว ซึ่งปัญหาเหล่านั้นก็อาจทำได้เพียงการเยี่ยมบ้าน การใช้ระบบดูแลช่วยเหลือที่ต้องเป็นฝ่ายรุก หรือใช้วิธีการระเบิดจากภายใน การสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งแก่นักเรียน ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการศึกษา คือความพยายามรองรับความต้องการของผู้เรียนเพื่อร่วมกันเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล อันจะนำมาซึ่งความใฝ่ฝัน และความตระหนักในคุณค่าแห่งตน ตลอดจนการปลูกฝังความสำนึกรักบ้านเกิด การส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ เพลงเรือ มโนรา และวงกาหลอ ที่กำลังจะผลักดันให้เป็นมรดกโลกต่อไป

“สถาบันการศึกษา นับเป็นอีกสถาบันหนึ่งของสังคมมนุษย์ที่มีหน้าที่และบทบาทที่รัฐควรให้ความสำคัญอย่างสูงในการปฏิรูปการศึกษา ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่การปฏิรูปการศึกษาไทยมีลักษณะที่ขาดการประสานอย่างจริงจังกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหายังคงเน้นการแก้ที่โครงสร้าง ไม่มองที่ระบบที่ต้องคลี่แยกส่วนปัญหา และการพัฒนาตัวเด็กให้เข้าสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนไทยแลนด์ 4.0 ก็แล้วแต่ที่จะคาดเดา การผ่าเครื่องต้องมองที่ระบบการผลิต และการพัฒนาครูทั้งระบบ ไปสู่การปฏิรูปหลักสูตร และการวัดประเมินผลที่ตรงตามสภาพจริง จริงๆ การไม่ด่วนตัดสินชี้ชะตาเด็ก โดยเฉพาะตั้งแต่ระดับปฐมวัย ต้องเร่งใส่ปุ๋ยชนิดเข้มข้น เสมือนแผ่นดิสก์ที่ว่างเปล่าที่ต้องการข้อมูล รัฐควรลงทุนหาบุคลากรที่มากความสามารถ หานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้เขา อีกปัจจัยหนึ่งคือ ภาษาสากล และการตั้งต้น มีการวัดผลด้านคุณลักษณะมากกว่าด้านความรู้ เมื่อสู่ช่วงชั้นที่สองจึงเริ่มมีการวัดผลโดยลงลึกเน้นการสอนเชิงโครงงาน หรือ IS ตรงนี้จะเป็นจุดที่จะทำให้ทราบว่านักเรียนจะเลือกชอบอะไร เมื่อถึงระดับ ป.6 ก็เริ่มใช้การสอนเชิง Seminar สัมมนา โดยมีรากฐานมาจากทฤษฎีของเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อป้อนมาสู่ระดับมัธยมต้น นักเรียนจะมีพื้นฐานด้านภาษามากขึ้น ตลอดจนทักษะการสืบค้น จึงมาเริ่มการสอนแบบในมหาวิทยาลัย เป็นการเลือกหลักสูตรด้วยตนเอง มีการสอนหลาย Section โดยขยายวิทยาเขตโรงเรียนชั้นนำออกไปในโซนต่างๆ ในอนาคต อาจเหลือเพียงสามสี่ชื่อ จัดเป็นสหวิทยาเขตเดียว ชื่อเดียวกัน แต่มีผู้บริหารหลายคนบริหารร่วมกัน คล้ายการสอนแบบทีมทีชชิ่ง มีการใช้ระบบการติดตามโรงเรียนในเครือข่ายด้วยการ โค้ชชิงแอนด์เมนทอร์ริ่ง ผู้บริหารโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่สุดจะเป็นประธาน การจัดสรรงบประมาณจะแจกจ่ายไปตามโครงการที่แต่ละโรงเรียนคิดพัฒนา โดยขึ้นอยู่กับ Stakeholder ที่คัดเลือกมาจากผู้บริหารผู้ทรงคุณค่า ผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละท้องถิ่น ประชุมกันคล้ายสหกรณ์ และเป็นผู้พิจารณางบร่วมกัน

IMG_6963

โรงเรียนขนาดเล็กจะถูกพัฒนาไม่ขึ้นกับรายหัว บุคลากรมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนตามความเหมาะสม มาตรฐานหลักสูตรเดียวกัน หรืออาจใช้สถานที่ตามบริบทของสถานศึกษาที่แตกต่างกันไป ในระดับมัธยมปลายวิชาการจะเริ่มเบาลง เน้นด้านการเรียนรู้เชิงศึกษาดูงาน จิตพิสัย และทักษะพิสัย การสืบค้นทดลองแบบสเต็มศึกษาแบบเข้มข้น ทุกโรงเรียนเข้าสู่ Obec QA หรือ T QA ในสหวิทยาเขตจะต้องมีอย่างน้อย 1 โรงเรียน ที่รองรับการสอนชาวต่างชาติได้ มีการคัดกรองเด็กเรียนรวม เด็กเปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ มีครูเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาสอนและนิเทศ ในขณะเดียวกันในบางโรงเรียนอาจมีการเปิดการสอนรองรับการอบรมหลักสูตรระยะสั้น หรืออาจจัดการสอนแบบทวิศึกษา ตลอดจนการลงทะเบียนเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเปิดล่วงหน้า เพื่อเก็บหน่วยกิตให้จบเร็วขึ้น ในระดับกระทรวงต้องมีการประสานบูรณาการกับกระทรวงอื่นในลักษณะสี่ประสาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสภาพัฒน์ ทีต้องมาสร้างวิสัยทัศน์ร่วมในการชี้นำว่าการศึกษาไทยในศตวรรษต่อๆ ไปจะเดินในทิศทางใด” นายโชคชัย กล่าวถึงมุมมองการศึกษาไทยในปัจจุบัน และบอกถึงเหตุผลที่เลือกมาเป็นครู ว่า

IMG_6962

“สาเหตุที่เลือกมาเป็นครู เพราะผมรักและประทับใจในตัวคุณครูของกระผม ครูที่คอยพร่ำสอนตักเตือน ครูผู้เสียสละ ดูแลเอาใจใส่ มีเมตตากรุณาต่อเด็ก ผมจดจำท่านได้เกือบทุกท่าน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ผมเลือกวิชาชีพนี้ เพราะ ครู คือผู้ยกระดับจิตวิญาณของมนุษย์”

“เวลาที่เหลืออยู่ต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเดินไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และต้องพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ มีเป้าหมายคือเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” นายโชคชัย กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับโรงเรียนคูเต่าวิทยา (Kutaowittaya School) สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 16 ตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 บ้านคูเต่า ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น – มัธยมศึกษาตอนปลาย มีนายโชคชัย ชัยธรรมโชค เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน มีบุคลากรครู รวม 13 คน มีนักเรียนรวม 70 คน “มารยาทงาม เรียนดีกีฬาเป็น ไม่เห็นแก่ตัว” คือปรัชญาโรงเรียน และมีอัตลักษณ์เด่นคือ “โรงเรียนส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น”

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=27360

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us