|

‘ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา’ นายกสภา มรภ.สงขลา ชี้วิจัยยุค 4.0 ต้องตอบโจทย์ ใช้ประโยชน์ได้จริง

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา

‘ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา’ นายกสภา มรภ.สงขลา บรรยายพิเศษวิจัยยุค 4.0 ชี้ต้องตอบโจทย์ ใช้ประโยชน์ได้จริง ปรับจากพื้นฐานสู่การวิจัยประยุกต์

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) บรรยายพิเศษเรื่องวิจัยยุค 4.0 ให้แก่คณาจารย์และบุคลากร มรภ.สงขลา กว่า 200 คน ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า วิจัยยุค 4.0 เป็นการวิจัยเพื่อสร้างสังคมแห่งความรู้ ฟื้นเศรษฐกิจด้วยฐานเศรษฐกิจใหม่ และ จัดระเบียบเศรษฐกิจสังคมใหม่ ซึ่งแตกต่างจากการวิจัยในอดีตที่วิจัยเพื่อเข้าใจธรรมชาติ ค้นหากฎธรรมชาติจากปรากฏการณ์รอบตัว นำมาสรุปเป็นทฤษฎีพื้นฐาน ถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น ค้นหากฎธรรมชาติที่เป็นเส้นตรงชัดเจน แต่ปรากฏการณ์ธรรมชาติส่วนใหญ่ซับซ้อน สับสน มักไม่เป็นเส้นตรง ก็มักจะไม่ถูกนับเป็นกฎ กฎจึงมีจำนวนจำกัด มีแต่กฎพื้นๆ ตายตัว ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากนัก

ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า ผลการวิจัยที่ได้อาจใช้อธิบายปรากฏการณ์ได้ แต่ประยุกต์ใช้อย่างจิงจังไม่ได้ หรือใช้ได้น้อย เพราะเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานมากเกินไป หรือเป็นการวิจัยตามความสนใจและตอบโจทย์ผู้วิจัย ไม่ได้คิดวางแผนที่จะให้ใครเอาไปใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ต้น (ทำนองสร้างบ้านโชว์ ไม่ได้คิดจะให้ใครอยู่หรือซื้อไปใช้) หรือเป็นงานวิจัยที่เฉพาะเจาะจงมากเกินไป ผลงานวิจัยจึงใช้กับเรื่องทั่งไปไม่ได้ สรุปสั้นๆ ว่าที่ผ่านมาเรามักได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์กันว่า “การวิจัยเป็นเรื่องสิ้นเปลือง เปล่าประโยชน์ และอาจถึงกับเป็นเรื่องไร้สาระ ยกเว้นก็แต่นักวิจัยด้วยกันเอง”

29103297_1712559098800386_6448836628361248768_o

การทำวิจัยในอนาคตนักวิจัยต้องทำวิจัยเพี่อตอบโจทย์ของคนอื่น ไม่ใช่วิจัยตามใจชอบของตัวเองหรือวิจัยเพื่อโชว์ และไม่ใช่วิจัยเพื่อการตีพิมพ์เอาผลงานหรือแค่ได้ KPI แต่ต้องวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนั้น ต้องก้าวจากพื้นฐานสู่การวิจัยประยุกต์ และต้องมีพาร์ทเนอร์ (partners) เมื่อก่อนนักวิจัยเท่านั้นที่สำคัญที่สุด แต่การวิจัยยุคใหม่นักวิจัยต้องมีพาร์ทเนอร์ ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าตัวจริง หรืออาจสำคัญมากกว่านักวิจัยเสียอีก พาร์ทเนอร์ที่ว่านี้หมายถึงผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ซึ่งเป็นเจ้าของโจทย์วิจัย หรือผู้ที่จะร่วมลงทุนหรือให้กู้ หรือผู้ให้ทุนทำวิจัยซึ่งอาจเป็นองค์กรภาครัฐก็ได้

“ยังมีเรื่องที่ต้องทำวิจัยอีกมากมาย เช่น พัฒนาแอพลิเคชั่น พัฒนาระบบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านต่างๆ หรือแม้แต่วิจัยเรื่องความปลอดภัย เครื่องมือตรวจวัด รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ มลภาวะและคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำรวจมาตรฐานผลิตภัณฑ์ วิจัยกระบวนการผลิต ความต้องการของผู้บริโภค (ตลาด) เหล่านี้เป็นต้น”

ประการสำคัญ คือ ฟื้นการวิจัยในมหาวิทยาลัย กล่าวคือ ต้องจัดการงานวิจัยใหม่ มหาวิทยาลัยในอนาคตต้องสร้างตลาดความรู้ที่ผลิตขึ้นมาเอง ตลาดความรู้ที่ว่านี้หมายถึงแหล่งที่ผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ให้ทุนมาพบกัน ออกแบบงานวิจัยร่วมกัน เพื่อนำผลการวิจัยไปใช่ให้เกิดประโยชน์ได้จริง และมหาวิทยาลัยควรจัดเวทีหรือพื้นที่ (plate form) ให้ผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ร่วมลงทุน/ให้ทุนมาพบกัน โดยจัดการคลัสเตอร์ (cluster) หลายๆ ครั้ง ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงด้วยงานวิจัยยุคใหม่ ต้องสร้างสังคมแห่งความรู้จริงๆ ก้าวผ่านสังคมขาดเหตุผล พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์พึ่งผู้มีบารมี พึ่งนักการเมือง ไปสู่สังคมที่มีเหตุผล พึ่งตัวเองดีที่สุด ต้องฟื้นเศรษฐกิจ ไม่ติดอยู่กับระบบรับจ้างผลิต ด้วยการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ ต้องจัดระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ด้วยตลาดแบบใหม่ เมืองสมัยใหม่ การศึกษาและการสร้างพลเมืองยุคใหม่ และการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=27775

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us