|

แบงก์ชาติ เผย ศก.ใต้ ไตรมาส 1 ปี 61 ขยายตัวจากปีก่อน นักท่องเที่ยวโตทุกพื้นที่ ขณะที่อัตราว่างงานเพิ่ม

DSC_0398

ธปท.ใต้ แถลง ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 เผย ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อน โดยการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องและขยายตัวในทุกพื้นที่ ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวจากไตรมาสก่อน อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวดี สะท้อนจากปริมาณการส่งออกสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น มาตรการจำกัดการส่งออกยางแห้ง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน รับแรงกดดันจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวและภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากไตรมาสก่อนตามราคาพลังงานและอาหารสด ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

วันนี้ (3 พ.ค. 61) ที่ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ถ.เพชรเกษม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ เป็นประธานในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 1/2561 และแนวโน้ม โดยมีผู้แทนจากธนาคารต่างๆ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง

DSC_0408

นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.0 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนในเทศกาลตรุษจีนและผลจากฐานต่ำของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย โดยการท่องเที่ยวขยายตัวในทุกพื้นที่ ฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และยุโรปเป็นสำคัญ ขณะที่ฝั่งภาคใต้ชายแดนกลับมาขยายตัวจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ประกอบกับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้น

มูลค่าการส่งออกขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.8 และหากไม่รวมหมวดอากาศยาน เรือ แท่น และรถไฟ การส่งออกหดตัวร้อยละ 1.9 จากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศยังคงขยายตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 โดยการผลิตน้ำมันปาล์มดิบขยายตัวสูงตามปริมาณวัตถุดิบ การผลิตไม้ยางพาราแปรรูปและผลิตภัณฑ์ขยายตัวตามความต้องการต่อเนื่องจากตลาดจีนมาเลเซีย และตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันการผลิตถุงมือยางขยายตัวตามความต้องการจากตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ด้านอุตสาหกรรมอาหารทะเล การผลิตอาหารทะเลกระป๋องขยายตัวหลังจากที่หดตัวติดต่อกันหลายไตรมาส ตามกำลังซื้อที่ดีขึ้นของตลาดหลักตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปขยายตัวได้ในสินค้ากุ้งและปลา อย่างไรก็ตาม การผลิตยางพาราแปรรูปเพื่อส่งออกหดตัวจากปัจจัยชั่วคราว เรื่องมาตรการจำกัดการส่งออกยางแห้งในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อย่างไรก็ดีน้ำยางข้นและยางแปรรูปอื่นซึ่งไม่ถูกจำกัดการส่งออกขยายตัวดี ทั้งนี้หากเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราชะลอลง

DSC_0404

ผลผลิตเกษตรขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.1 โดยผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาว จากผลของฐานต่ำจากภาวะน้ำท่วมในช่วงต้นปี 2560 เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ผลผลิตปาล์มน้ำมันได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและพื้นที่ให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตยางพาราได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการเร่งกรีดของเกษตรกรจากราคาน้ำยางสดที่ปรับสูงขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2561 ด้านราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 35.7 โดยราคาลดลงในทุกสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปาล์มน้ำมันที่ราคาลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และยางพาราที่ราคาลดลงจากฐานสูงปีก่อนจากผลกระทบน้ำท่วมในช่วงต้นปี 2560 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 21.4

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.7 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน การอุปโภคบริโภคสินค้ากึ่งคงทนกลับมาขยายตัวได้จากกำลังซื้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดบริการและหมวดสินค้าคงทนขยายตัวในอัตราชะลอลง อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่หดตัวและภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันทำให้กำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็ง สะท้อนผ่านการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่ปรับลดลง

DSC_0406

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.3 เร่งตัวจากไตรมาสก่อน โดยปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.8 ขณะเดียวกันการลงทุนในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูปและผลิตภัณฑ์ สะท้อนจากการขยายตัวของมูลค่านำเข้าและมูลค่าการจำหน่ายสินค้าทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทั้งในและนอกเขตเทศบาลยังคงหดตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัว โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.2 โดยเร่งตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ตามการเบิกจ่ายหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 ตามการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างจากงบกลาง งบกลุ่มจังหวัด งบสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมชลประทาน รวมทั้งการเบิกจ่ายในหมวดครุภัณฑ์ของกลุ่มจังหวัด และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

DSC_0402

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.42 ชะลอลงจากร้อยละ 1.04 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกและราคาก๊าซหุงต้ม รวมถึงราคาอาหารสดที่หดตัวมากขึ้น ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะผักผลไม้ เนื้อสัตว์ และสัตว์น้ำ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง อย่างไรก็ตามหากเทียบกับไตรมาสก่อน อัตราการว่างงานลดลง

ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2561 เงินฝากทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยชะลอลงทั้งเงินฝากประเภทออมทรัพย์ และประจำ ด้านสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์และ SFIs เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนเช่นกัน ตามการหดตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เป็นสำคัญ

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=29295

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us