|

มรภ.สงขลา ศึกษาจิตรกรรมฝาผนังฯ การแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง คว้ารางวัลผลงานวิจัยระดับดีมาก ภาคบรรยาย สาขาสังคมศาสตร์

ผศ.ดร.กฤติยา รับมอบรางวัล

อาจารย์คณะศิลปกรรมฯ มรภ.สงขลา ศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่า สร้างความตระหนักชุมชนเห็นคุณค่าหนังตะลุง หวังปั้นทายาททางวัฒนธรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

ผศ.ดร.กฤติยา ชูสงค์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนพร้อมด้วย ผศ.บัณฑิตา วรศรี อ.ตถาตา สมพงศ์ อ.อักษราวดี ปัทมสันติวงศ์ และ อ.ธัชพล ภัทรจริยา ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 28  ซึ่งผลงานของตนและ อ.ตถาตา ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยในระดับดีมาก ภาคบรรยาย ในสาขาการศึกษา และ สาขาสังคมศาสตร์ โดยตนศึกษาเรื่องจิตรกรรมฝาผนังสู่การเรียนรู้ : ศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงอัตลักษณ์ท้องถิ่น : กรณีศึกษาวัดคูเต่า ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยให้เยาวชนและคนในชุมชนเรียนรู้ถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงที่เชื่อมโยงเรื่องราวจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่า เรื่องพระเวสสันดรชาดก ทำให้เยาวชนและคนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าและอัตลักษณ์ของจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับอิทธิพลมาจากการแสดงหนังตะลุง และเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการสืบสาน อนุรักษ์ อีกทั้งเป็นการสร้างทายาททางวัฒนธรรมผลิตผลงานศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงให้คงอยู่คู่ชุมชนวัดคูเต่า

32253712_1217619565039219_4066500427699453952_n

ผศ.ดร.กฤติยา กล่าวว่า วัดคูเต่าเป็นวัดเก่าแก่มีประวัติยาวนาน เป็นศูนย์กลางจิตใจของชุมชนชาวคูเต่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ทั้งด้านประติมากรรม สถาปัตยกรรม และจิตรกรรมฝาผนังที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของช่างท้องถิ่นที่มีความงดงามอย่างยิ่ง จิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่าถ่ายทอดเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา เรื่องพระเวสสันดรชาดก เป็นภาพจิตรกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่น ที่นำรูปแบบของตัวหนังตะลุงถ่ายทอดเรื่องราวลงบนฝาผนัง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลความนิยมของหนังตะลุงในยุคสมัยนั้น คุณค่าและความสำคัญของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่า จึงควรมีการสืบสานและเผยแพร่ให้เยาวชนรุ่นหลังและคนในชุมชนได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน  

32169226_1616101171772202_4034552180324171776_n

อาจารย์ผู้ทำวิจัย กล่าวอีกว่า หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวใต้ ถือเป็นการละเล่นที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพ ไหวพริบและปฏิภาณของนายหนัง เพราะเป็นผู้ดำเนินเรื่องราวการเล่นหนังตะลุงเพียงคนเดียวตลอดทั้งคืน ศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างโนราและหนังตะลุงมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางสังคมสำหรับคนใต้มายาวนาน ก่อนจะมีระบบการศึกษาประชาบาลและการละเล่นหรือความบันเทิงสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทแทนในยุคหลัง ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น การรับเอาวัฒนธรรมของชาติอื่นเข้ามาในประเทศไทย ทำให้หนังตะลุงได้รับผลกระทบไปด้วย คณะหนังตะลุงต่างเริ่มประยุกต์และปรับเปลี่ยนรูปแบบของตนเพื่อให้ทันต่อยุคต่อเหตุการณ์ของคนในสังคมตามแบบฉบับของหนังตะลุงยุคเก่า เพียงแต่ปรับปรุงพัฒนาในบางอย่างให้ทันสมัยขึ้น โดยมุ่งเน้นเป้าหมายผู้ชมในทุกระดับทุกเพศทุกวัย

32161729_1616101248438861_7135745857705476096_n

จะเห็นได้ว่าคณะหนังตะลุงในปัจจุบันปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการแสดง โดยนำเอาสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประกอบการแสดงหนังตะลุง เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงแบบสมัยก่อนก็ปรับเปลี่ยนจากเครื่องห้า กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ นำเครื่องดนตรีสากล เช่น กลองชุด กีตาร์ เบส คีบอร์ด ฯลฯ เข้ามาร่วม ทำให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การสร้างทายาททางหนังตะลุงเพื่อทำหน้าที่สืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านนี้ไว้จึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะบทบาทของหนังตะลุงมีอิทธิพลอย่างมากต่อชาวใต้ ผศ.ดร.กฤติยา กล่าว

32159002_1217618661705976_2939973623135338496_n

32130792_1616101268438859_314063320241930240_n

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=29765

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us