|

มรภ.สงขลา ผุด 6 โครงการพัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนเกาะยอ

31882963_244797536260214_7018945154098659328_o

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา บูรณาการ 8 หลักสูตรเรียนรู้พัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนเกาะยอ จับมือท้องถิ่นสร้างจุดขายด้านทรัพยากรพื้นที่-ปราชญ์ชาวบ้าน พร้อมปั้นมัคคุเทศก์น้อยเก่งภาษาต้อนรับนักเที่ยวมาเลเซีย สิงคโปร์

ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ชุมชนเกาะยอเป็นพื้นที่หนึ่งที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีโครงการความร่วมมือการบริการวิชาการ จึงทำให้ทางคณะฯ ทราบถึงศักยภาพของชุมชนที่มีความโดดเด่นในเชิงวัฒนธรรม ทั้งในเชิงทางกายภาพที่มีพื้นที่เป็นเกาะที่อยู่ในทะเลสาบสงขลา ในเชิงความหลากหลายด้านทรัพยากรทั้งพืชพรรณประจำถิ่นและสัตว์น้ำ ตลอดจนวิถีชีวิต ศิลปหัตถกรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และจากการลงพื้นที่เพื่อร่วมกับชุมชนในการพัฒนาท้องถิ่นทำให้พบว่า การจัดการท่องเที่ยวในเกาะยอมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าศักยภาพที่ชุมชนมี และชุมชนแสดงความจำนงที่จะร่วมมือบริหารจัดการและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน ทางคณะฯ จึงจัดทำแผนงานวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการและการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีไทยชุมชนเกาะยอยั่งยืน โดยดำเนินการวิจัย ทั้งหมด 6 โครงการที่มีความสัมพันธ์กัน และบูรณาการวิจัยสหสาขาวิชาการ เพื่อเป้าหมายที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน

31948123_244795646260403_4879045374666342400_o

ด้าน ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการนี้มีที่มาจากการสำรวจความต้องการของชุมชนในการบริการวิชาการ ประกอบกับการทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องของคณาจารย์ในคณะฯ ตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน พบว่าเกาะยอเป็นชุมชนที่มีศักยภาพ เพียงแต่อาจขาดปัจจัยในเรื่องของการบริหารจัดการที่ดี และบางเรื่องต้องใช้เวลา แต่ทุกครั้งที่ลงไปสามารถสัมผัสได้ถึงศักยภาพของชุมชน โดยเฉพาะปราชญ์ชาวบ้าน เมื่อไปบ่อยครั้งเข้าก็เกิดเป็นความไว้ใจจากชุมชนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้ที่ผ่านมาจะมีการทำวิจัยในพื้นที่เกาะยอมาแล้วบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวิจัยเฉพาะเรื่อง ซึ่งอาจไม่เห็นผลหรือไม่ต่อเนื่อง จึงนำมาสู่แนวคิดการดำเนินงานแบบชุดโครงการ โดยแบ่งออกเป็น 6 โครงการย่อยด้วยกัน

ผู้บริหารร่วมรับฟังแนวทางพัฒนา

ดร.รัชชพงษ์ กล่าวอีกว่า โครงการย่อยที่ว่านี้ประกอบด้วย 1. ศึกษาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นที่ชุมชนเกาะยอ โดยวิจัยร่วมกับปราชญ์ชุมชน ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ผิดเพี้ยน 2. สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ให้ออกมาในลักษณะของแผนที่ท่องเที่ยว 3. ศึกษาทุนทางสังคมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นการทำงานพัฒนาท้องถิ่นสนองพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10 4. ศึกษาสารสนเทศชุมชนเพื่อพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยคิดกิจกรรมท่องเที่ยวกระจายออกไปในแต่ละจุดของเกาะยอ เนื่องจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวอาจเกิดความสับสนในการเลือกสถานที่ เช่น หากมีเวลาจำกัดจะสามารถไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง ใน 3 ช่วงเวลาที่จัดเตรียมไว้ให้เลือกคือ 1 ชม. 3 ชม. และ 6 ชม. ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาก็จะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจและสอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว 5. รูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีไทยชุมชนเกาะยอ และ 6. การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมภาษาอังกฤษสำหรับมัคคุเทศก์น้อย โดยร่วมกับโรงเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เด็กรักและหวงแหนชุมชนควบคู่ไปกับเพิ่มทักษะทางภาษา เนื่องจากในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ เดินทางมาท่องเที่ยวที่เกาะยอ โดยเฉพาะที่วัดแหลมพ้อ เป็นจำนวนมาก

ผู้บริหารร่วมลงพื้นที่เกาะยอ

“การลงพื้นที่ครั้งนี้เรานำทั้ง 8 หลักสูตรของคณะมนุษยศาสตร์ฯ ได้แก่ สังคมศาสตร์เพื่อมัคคุเทศก์และการท่องเที่ยว รัฐประศาสนศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การพัฒนาชุมชน ภาษาอังกฤษเพื่องานบริการ ภูมิสารสนเทศ และ สวัสดิการสังคม ไปบูรณาการ เช่น ภูมิสารสนเทศทำแผนที่ท่องเที่ยว สังคมศาสตร์เพื่อมัคคุเทศก์ฯ ทำเรื่องประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เป็นต้น ซึ่งการลงไปของเราชุมชนมีความคาดหวังว่าภายใน 1 ปีจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่องจึงวางแผนไว้ว่าหลังจากนี้ภายใน 3 ปีอาจพัฒนาในมิติอื่นๆ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น ดึงคณะวิทยาการจัดการมาช่วยดูแลเรื่องการทำตลาด ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและคณะเทคโนโลยีการเกษตรทำวิจัยคุณค่าทางอาหารของปลากะพง ซึ่งเป็นปลาที่มีชื่อเสียงของเกาะยอ สิ่งที่เราอยากได้คือสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้ เช่น งานวิจัยเรื่องรสชาติ สารอาหาร โดยใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยในการจัดทำโครงการ แม้จำนวนเงินจะไม่มากเมื่อเทียบกับงานที่เราตั้งใจทำ แต่นักวิจัยทุกคนก็ทุ่มเทและลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าว

ลงพื้นที่ชุมชนเกาะยอ

หารือแนวทางพัฒนาร่วมกับชุมชน

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=30184

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us