|

ม.อ. แถลงผลวิจัยศึกษาลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า สร้างแหล่งอาศัยแก่สัตว์น้ำ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

IMG_1939

ทีมงานวิจัยจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายงานผลการวิจัย โครงการทดสอบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าภายใต้สภาวะจำลองสภาพแวดล้อมทางทะเล เพื่อสร้างบ้านปลาในทะเล ส่งผลถึงความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรไทย พบว่าการทดสอบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเพื่อเป็นบ้านใหม่ของปลานั้นพบสารที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยระดับของสารดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง และเกณฑ์คุณภาพทะเลตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า ชสค. กล่าวว่า การสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลด้วยเซรามิก ส่งผลให้ได้แหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลที่มียั่งยืน ดังนั้นการนำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเซรามิกที่ปลดระวางมาใช้ประโยชน์จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยฟื้นฟูแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า และปัจจัยทางกายภาพของน้ำทะเลที่มีความแปรปรวน การที่จะนำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ามาสร้างเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยให้มั่นใจก่อน

IMG_1934

คณะวิจัย โครงการทบสอบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าภายใต้สภาวะจำลองสภาพแวดล้อมทางทะเล  ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล คณะเทคนิคการแพทย์ ผศ.ดารินต์ณัฏ บัวทอง คณะเทคนิคการแพทย์ ดร.คัมภีร์ พ่วงทอง คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม นางสาวณัฐชฎาพร ศรีเมฆ นายณัฏฐพงศ์ มณีโรจน์ และ นักศึกษาจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ได้นำเสนอผลการวิจัยในหัวข้อ “โครงการทดสอบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าภายใต้สภาวะจำลองสภาพแวดล้อมทางทะเล” เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 โดยได้ดำเนินการวิจัย ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน2561

IMG_1936

ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล หัวหน้าคณะทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เปิดเผยว่าได้ทำการศึกษาวัสดุลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าดูว่า ในสภาวะจำลองทางธรรมชาติจะมีสารอะไรปล่อยออกมาบ้าง โดยได้นำลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ามาบดเป็นผง ตรวจสอบปริมาณการชะละลายของสารจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงของความเค็ม ความถ่วงจำเพาะ และค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำทะเลภายใต้การจำลองการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ  และทำการศึกษาทดสอบโครงสร้างจุลภาคของผงลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าด้วยเทคนิค X-ray Diffractometer (XRD) และ X-ray fluorescence (XRF) และตรวจสอบปริมาณการชะละลายของสารจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าจากน้ำชะ ในรูปแบบสัดส่วนของเหลวต่อของแข็ง รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงของความเค็ม ความถ่วงจำเพาะ และค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของน้ำทะเลภายใต้การจำลองการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ

IMG_1937

ผลการศึกษาพบว่าลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ามีความสามารถในการละลายได้ แต่ไม่พบการละลายของโลหะหนักที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต และไม่พบสารที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำทะเลเพื่อการอนุรักษ์แหล่งปะการัง ทั้งนี้สารเคมีที่ตรวจพบเป็นธาตุที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยระดับของสารดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และเกณฑ์คุณภาพน้ำทะเลตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 27 ปี (พ.ศ. 2549) ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เรื่องกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 11 ง, วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 การศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเล ยังพบค่าที่อยู่ในช่วงเดียวกับน้ำทะเลตามธรรมชาติ นั้นแปลว่าถึงแม้อุณหภูมิของน้ำทะเลจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่จะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าปัจจัยทางกายภาพของน้ำทะเล ดังนั้นจากการศึกษานี้สามารถสรุปได้ว่าการใช้ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเพื่อเป็นโครงสร้างแหล่งอาศัยให้สัตว์ทะเล สามารถทำได้ และกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก

IMG_1938

นางสาวณัฐชฎาพร ศรีเมฆ และนายณัฎฐพงศ์ มณีโรจน์ นักศึกษาปริญญาเอก และปริญญาโท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงวิธีศึกษาว่าได้จำลองน้ำทะเลขึ้นมา ให้มีความเค็มและองค์ประกอบต่างๆเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งถ้าเรานำน้ำทะเลจริงๆมาศึกษา อาจมีสารปนเปื้อนทำให้ผลการศึกษาเกิดการคลาดเคลื่อนได้ จากนั้นจึงเลียนแบบธรรมชาติ และจำลองสถานการณ์เมื่อลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าค่อยๆ ผุกร่อนไปตามธรรมชาติจนเป็นผง โดยวัดค่าการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดเป็นด่าง ค่าความถ่วงจำเพาะ ค่าความเค็มว่ามีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ พบว่าการชะละลายของธาตุไม่พบการชะละลายของโลหะหนักที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำ ไม่ว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าปัจจัยทางกายภาพของน้ำทะเล

IMG_1935

ดร.คัมภีร์ พ่วงทอง คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เมื่อได้ใช้เทคนิคของรังสีเอ็กซ์ วัดผงของลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า เพื่อวัดทางเคมีเชิงฟิสิกส์ ค่าที่ได้ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ กับหินดินทราย คือไม่ส่งผลต่อธรรมชาติผลการศึกษาจึงสรุปได้ว่าการใช้ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเพื่อสร้างแหล่งอาศัยให้สัตว์ทะเลสามารถทำได้โดยส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยมาก สารเคมีที่ตรวจพบนั้นไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ม.อ. นำเสนอผลการวิจัยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าสามารถทำบ้านปลาได้ และมีผลกระทบทางทะเลน้อยมาก

IMG_1933

 

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=31995

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us