|

แบงก์ชาติ ชี้ เศรษฐกิจใต้ไตรมาส 2 ปี 61 ชะลอตัว เกษตร – ท่องเที่ยวหด

IMG_1952

แบงก์ชาติใต้ เผย ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ผลผลิตเกษตรชะลอลง ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวเนื่องจากวัตถุดิบอาหารทะเลและปาล์มน้ำมันลดลง รวมถึงความต้องการไม้ยางพาราแปรรูปและผลิตภัณฑ์จากจีนลดลงมาก จากการเข้มงวดเรื่องสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจีน การท่องเที่ยวชะลอตัวจากนักท่องเที่ยวยุโรปและรัสเซียที่ลดลง ผลจากปัจจัยชั่วคราวช่วงฟุตบอลโลก ด้านอุปสงค์ในประเทศ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อเดือนเมษายน สำหรับการลงทุนภาครัฐขยายตัวดี ขณะที่ภาคเอกชนชะลอลงเล็กน้อย ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน ขณะที่อัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลลดลงจากไตรมาสก่อน

วานนี้ (2 ส.ค. 61) ที่ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ เป็นประธานในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 2 ปี 2561 และแนวโน้ม โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังกันอย่างคับคั่ง

นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.1 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากนักท่องเที่ยวยุโรปและมาเลเซียขยายตัวชะลอลง ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวรัสเซียหดตัวเล็กน้อยจากปัจจัยชั่วคราวในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนและกลุ่มเอเชียอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง หากพิจารณาตามพื้นที่ การท่องเที่ยวขยายตัวในฝั่งอันดามันและภาคใต้ชายแดน ขณะที่ฝั่งอ่าวไทยหดตัว

มูลค่าการส่งออกหดตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.9 และหากไม่รวมหมวดอากาศยาน เรือ แท่น และรถไฟ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.2 จากทั้งปัจจัยด้านราคาและปริมาณ เป็นผลจากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยรวมยังคงขยายตัว ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 4.6 โดยยางพาราแปรรูปขยายตัวดีจากความต้องการที่มีต่อเนื่อง อีกทั้งได้รับผลดีจากการสิ้นสุดมาตรการจำกัดการส่งออกยางแห้งในไตรมาสก่อน ประกอบกับการผลิตอาหารทะเลกระป๋องขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้น และราคาวัตถุดิบ ทูน่าที่ลดลง ขณะเดียวกันการผลิตถุงมือยางขยายตัวตามความต้องการใช้โดยเฉพาะในตลาดจีน อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปหดตัวในสินค้ากุ้งและหมึก เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ และการสูญเสียตลาดให้แก่ประเทศคู่แข่ง ขณะเดียวกันการผลิตไม้ยางและผลิตภัณฑ์หดตัวจากผลของการเข้มงวดเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจีน ทำให้โรงงานฝั่งผู้ซื้อบางส่วนต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก

IMG_1958

ผลผลิตเกษตรขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.0 โดยผลผลิตเพิ่มขึ้นจากยางพารา ตามพื้นที่เปิดกรีดใหม่และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ผลผลิตปาล์มนำมันลดลงจากปัจจัยชั่วคราวเรื่องฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง ส่วนผลผลิตกุ้งขาวลดลงหลังเกษตรกรลดการลงลูกกุ้งเนื่องจากราคากุ้งขาวมีทิศทางลดลง ด้านราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 20.7 โดยราคาลดลงในทุกสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งนี้ ราคายางพาราลดลงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาที่สูงในปีก่อนจากผลกระทบน้ำท่วมในช่วงต้นปี 2560 ขณะเดียวกันราคากุ้งขาวลดลงมากตามปริมาณอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันลดลงสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัว ร้อยละ 15.9

เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.6 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์กีฬา ประกอบกับการใช้จ่ายเร่งขึ้นในหมวดเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายในช่วงก่อนเปิดภาคเรียน สำหรับการอุปโภคบริโภคหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ตามการใช้จ่ายในหมวดอาหารเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อเดือนเมษายน 2561 ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ 1.1 จากการเร่งซื้อไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลงและภาระหนี ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อภาคเอกชนในระยะต่อไป

IMG_1956

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 15.4 โดยเป็นการเติบโตในหมวดอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง กิจกรรมทางการเกษตร ตลอดจนเครื่องจักรสำหรับการผลิตอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ ประกอบกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ขณะที่พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหดตัวน้อยลงจากช่วงก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการบริการในหมวดโรงแรม อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาคการผลิตหดตัว สะท้อนจากมูลค่านำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ลดลง

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.7 โดยเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวร้อยละ 19.6 ตามการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง หมวดครุภัณฑ์ และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจในการซ่อมแซมถนน ประปา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขณะที่รายจ่ายประจำลดลงร้อยละ 6.2 ตามการเบิกจ่ายลดลงในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปและหมวดค่าตอบแทน

IMG_1955

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.13 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.43 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกและราคาก๊าซหุงต้ม ขณะที่ราคาอาหารสดที่หดตัวน้อยลง ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง โดยเฉพาะปลาและสัตว์น้ำ สำหรับอัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ลดลงจากไตรมาสก่อน ตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น

ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 เงินฝากทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.9 จากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประเภทออมทรัพย์เป็นสำคัญ ด้านสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์และ SFIs เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ตามการขยายตัวของสินเชื่อ SFIs ในประเภทของสินเชื่อระยะยาวที่ให้แก่เกษตรกรโดยตรง และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

IMG_1959

IMG_1960

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=32056

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us