|

สาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 เดินหน้าแก้ปัญหาเครื่องสำอางไม่ปลอดภัย

PNEWS18080710233800601

สาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 เดินหน้าแก้ไขปัญหาเครื่องสำอางไม่ปลอดภัย จัดโครงการ “เครื่องสำอางภาคใต้ ปลอดภัย สวยใส ไร้สารพิษ” ที่จังหวัดสงขลา

วันนี้ (7 ส.ค. 61) ที่ โรงแรมดาหลาวิลล์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เภสัชกรประเวศ หมีดเส็น ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ “ เครื่องสำอางปลอดภัย สวย ใส ไร้สารพิษ เขตสุขภาพที่ 12” ประจำปี 2561 โดยมี นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ร่วมให้การต้อนรับ และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา , จังหวัดสตูล , จังหวัดตรัง , จังหวัดพัทลุง , จังหวัดปัตตานี , จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส เข้าร่วมโครงการจำนวน 150 คน

PNEWS18080710233800607

เภสัชกรประเวศ หมีดเส็น ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยลดขั้นตอนการขออนุญาตให้เร็วขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการขยายกิจการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องเข้มข้นในการตรวจสอบเฝ้าระวังเครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในท้องตลาดให้ถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังเครื่องสำอางในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมมือกันในการดำเนินการและแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยของเครื่องสำอางได้ต่อไป

ด้าน นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าธุรกิจด้านความงามขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว การผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยก็ได้ขยายวงกว้างขึ้นเช่นกัน โดยผู้บริโภคมักมีค่านิยมอยากมีผิวขาวใส จนทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวได้รับความนิยมอย่างมาก และมีการโฆษณาชวนเชื่อและจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ต หรือบอกปากต่อปากในกลุ่มเพื่อนและคนใกล้ชิด ทำให้อยากลองใช้ แม้ว่าตัวเองจะมีผิวคล้ำมาตั้งแต่กำเนิดก็ตาม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน

PNEWS18080710233800620

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการจดแจ้งเครื่องสำอางที่ไม่ตรงกับความจริง และการโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตั้งแต่แหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อเครื่องสำอาง ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเครื่องสำอางดังกล่าว จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “เครื่องสำอางภาคใต้ ปลอดภัย สวยใส ไร้สารพิษ” ขึ้น ในครั้งนี้ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของเครื่องสำอางตั้งแต่แหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย และพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค โดยได้มีการสำรวจสถานที่ผลิตเครื่องสำอางที่มีการจดแจ้งตามฐานข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่  ผู้ประกอบการ รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้สามารถเลือกซื้อเครื่องสำอางได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

PNEWS18080710233800641

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจสถานที่ผลิตเครื่องสำอางที่มีการจดแจ้งตามฐานข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในพื้นที่ 7 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน 505 แห่ง พบว่ามีสถานที่ผลิตเครื่องสำอางตรงตามที่จดแจ้งเพียง 86 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 17.03  และมีสถานที่ผลิตเครื่องสำอางที่จดแจ้งไม่ตรงตามความเป็นจริง จำนวน 419 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82.97 สำหรับมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) ได้กำหนดให้มีการตรวจสถานที่ผลิต/นำเข้า ก่อนการจดแจ้ง และได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอาง เพื่อเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องสำอางต้องปฏิบัติตามประกาศฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 โดยผู้ประกอบการรายใหม่ต้องจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ฯ ให้เป็นไปตามประกาศฯ ก่อนการยื่นจดแจ้งเครื่องสำอาง ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับใบรับจดแจ้งก่อนวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ต้องยืนยันตัวตนภายใน 45 วัน หลังได้รับหนังสือลงทะเบียนดังกล่าว หากไม่แสดงตน อย.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะดำเนินการเพิกถอนใบรับแจ้งต่อไป ส่วนผู้ประกอบการที่ประสงค์จะดำเนินการต่อ ให้ปรับปรุงสถานที่ผลิตและนำเข้าให้ได้ตามเกณฑ์ที่ประกาศฯ กำหนดต่อไป

สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหาเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย แบ่งกิจกรรมเป็น 2 ส่วน คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อพัฒนาศักยภาพในการตรวจสอบเฝ้าระวังการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อย่างถูกต้อง และมีการจัดบูธนิทรรศการเพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาในการเลือกซื้อเลือกบริโภคเครื่องสำอางได้อย่างถูกต้องปลอดภัย รวมถึงการชี้แจงแนวทางการดำเนินธุรกิจเครื่องสำอางอย่างถูกกฎหมายให้แก่นักเรียนนักศึกษาและผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจเครื่องสำอางในอนาคตต่อไป

สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=32262

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us