|

‘ผศ.ดร.ประภาศ’ ชี้ การศึกษาไทยยัง ‘ติดหล่ม’ ยัน ม.หาดใหญ่ ผลิต ‘บัณฑิตครูคุณภาพ’

42847390_2189909637748304_2136858577514528768_n

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ระบุ การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันยัง “ติดหล่ม” พร้อมยืนยันมหาวิทยาลัยหาดใหญ่จัดการศึกษา และผลิตบัณฑิตครูที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนชาวใต้และประเทศไทยไว้วางใจ

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ พูดถึงสภาพการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน ว่า สภาพการศึกษาไทยยัง “ติดหล่ม” พัฒนาช้ามาก เรามีโรงเรียนที่จัดการศึกษาได้มีคุณภาพมากอยู่เพียงแค่หยิบมือเดียว ส่วนใหญ่จัดการศึกษายังไม่มีคุณภาพ โรงเรียนที่จัดการศึกษาได้คุณภาพส่วนมากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ เช่น โรงเรียนเอกชนในเมืองหรือในตัวจังหวัด โรงเรียนสังกัดมหาวิทยาลัย นั่นคือโรงเรียนสาธิตต่างๆ และโรงเรียนเฉพาะกิจ เช่น กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ ส่วนโรงเรียนทั่วไปถือว่าโดยภาพรวมยังจัดการศึกษาได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ

ปัญหาการศึกษาไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงไม่อยากจะไปโทษผู้บริหารโรงเรียนประเทศเราบริหารการศึกษาให้การศึกษาของเราไม่มีคุณภาพ ทำให้ครูผู้สอนมีงานมากเกินไป งานที่มากเกินไปนั้นก็ไม่ใช่งานที่เกี่ยวกับการสอนโดยตรง จึงทำให้ครูไม่ได้อยู่กับการสอน สอนไม่เต็มที่ ไม่เต็มเวลา การตรวจงานตรวจการบ้านและการให้ข้อมูลย้อนกลับเรื่องงานที่มอบหมาย หรือการบ้านนักเรียนมีเวลาทำน้อย การเรียนรู้จึงไม่ครบกระบวนการ หรือเป็นไปอย่างหลวมๆ ไม่กระซับ

สาเหตุทั้งหมดในทัศนะของผมคือกระทรวงศึกษาธิการมีความสามารถในการทำให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษายุ่งกับนโยบายต่างๆ ที่ส่งมอบลงมามากเกินไป และผู้อำนวยการสถานศึกษาก็ไม่กล้าขัด ไม่กล้าเลือกที่จะปฏิบัติเฉพาะสิ่งที่ส่งผลต่อผลการเรียนรู้ของนักเรียนการศึกษาเราจึงติดหล่ม

ผศ.ดร.ประภาศ กล่าวอีกว่า การที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยนัยยะคือรัฐบาลนี้กำหนดนโยบายการศึกษา 4.0 และกำหนดทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 คือนโยบาย 3R & 8C (3R คือ Reading-อ่านออก, (W) Riting-เขียนได้ และ (A) Rithmatic-มีทักษะในการคำนวณและ 8C คือ Critical Thinking and Problem Solving, Creativity and Innovation, Collaboration Teamwork and Leadership, Communication Information and Media Literacy, Cross-cultural Understanding, Computing and ICT Literacy and Career and Learning Skills and Compassion นั้นผมเห็นด้วยอย่างมาก เรื่องของการอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น จึงต้องแก้ไขก่อน และด่วนที่สุดครับ รวมทั้งเรื่อง 8C ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็น แม้รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ผมยอมรับว่าเรื่อง 3R & 8C เป็นเรื่องที่ตรงกับปัญหาของชาติ แต่ก็เหมือนที่กล่าวปัญหานี้จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้แก้เรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างก่อน

EmptyName 140

ผศ.ดร.ประภาศ ยังพูดถึงประเด็นสังคมเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรื่องครูตรวจการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ (โจ้เก็บมะม่วง) ผิดพลาด อีกด้วย ว่า เราจะเห็นว่าครูออกมายอมรับว่าตรวจการบ้านผิด ขอโทษผู้ปกครอง ประเด็นน่าสนใจอยู่ที่การบ้านเป็นเรื่องบวก และเป็นการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ไม่ซับซ้อนอะไร แต่ครูตรวจผิด เนื่องจากครูยอมรับว่านักเรียนเยอะ การบ้านนักเรียนก็เยอะ เวลาก็เย็นแล้วครูต้องกลับบ้าน จึงตรวจอย่างรีบเร่ง เราจะเห็นว่าขณะตรวจการบ้านเรื่องการบวก ครูกำลังมีมโนทัศน์เรื่องการลบ จึงตรวจผิดไปหลายข้อ เรื่องที่ชวนขำคือ ถ้าโจทย์ยาก เป็นคณิตศาสตร์ขั้นสูง หรือนักเรียนระดับสูงกว่านี้ ผู้ปกครองก็อาจจะไม่ทราบว่าครูตรวจถูกหรือผิด ผมเชื่อเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าครูกรณีนี้มีคุณภาพที่จะสอนเนื้อหานี้ได้แน่นอน แต่เกิดจากตัวแปรทางจิตวิทยา คือ ครูเหนื่อยล้า งานเยอะ รีบเร่ง นี่ยังไม่รวมตัวแปรอื่นที่อาจจะมี เช่น ครูมีความกังวล มีความทุกข์เรื่องส่วนตัวอะไรอยู่ จึงทำให้ขาดสมาธิ

สำหรับมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ที่เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตครู ผศ.ดร.ประภาศ ได้กล่าวถึงนโยบายในการพัฒนานักศึกษาครูให้มีคุณภาพ ว่า มั่นใจว่าปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยหาดใหญ่เคลื่อนตัวมาถึงตำแหน่งที่จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ประชาชนชาวใต้ และประเทศไทยไว้วางใจ กรณีของหลักสูตรการผลิตครูที่คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์รับผิดชอบ ผมปฏิบัติตามนโยบายคุณภาพที่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย และอธิการบดีส่งมอบมาอย่างเคร่งครัด คืออย่างน้อยก็ที่ชัดๆ ก็คือ 1. หลักสูตรทุกหลักสูตรต้องได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ คือ คุรุสภา ได้รับการรับทราบจาก สกอ. และ กคศ. แต่ปัญหาเรื่องนี้ คือ แม้สภามหาวิทยาลัย ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการอนุมัติหลักสูตร อนุมัติหลักสูตรแล้วก็จริง แต่คณะก็ต้องรอการรับรองและรับทราบจากหน่วยงานทั้ง 3 ที่ผมกล่าวข้างต้น ช่วงรอนี้อาจจะมีการแก้ไขข้อมูลอะไรกันบ้างเล็กน้อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ช่วงรอนี่แหละ นักศึกษาที่ไม่เข้าใจกระบวนการ และไม่เข้าใจภาพรวมทั้งหมดของกระบวนการอนุมัติ รับรอง และรับทราบหลักสูตรก็อาจจะไม่สบายใจ และมีความวิตกกังวลได้ 2. ผู้สอนต้องเป็นผู้สอนที่มีคุณสมบัติตรงและมีคุณภาพการสอน โดยการประเมินของผู้เรียนอยู่ในระดับที่คณะจะต่อสัญญาจ้างได้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผมเน้นมาก ผมเน้นเรื่องความเก่งความรู้ เก่งการสอน เก่งการวิจัย และขยันทำงานของอาจารย์ที่คณะผมทุกคน อาจารย์ทุกคนต้อง Active และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ 3. ผู้สอนต้องเอาใจใส่ผู้เรียนอย่างใกล้ชิด ช่วยเหลือให้คำปรึกษา เป็นที่พึ่งทางวิชาการ และเรื่องปัญหาส่วนตัวต่างๆ ที่นักศึกษานำมาปรึกษาได้ ผลของเรื่องนี้ผมภูมิใจมาก กล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ถ้าจะดูว่าอาจารย์ที่ดูแลดูศิษย์ได้ดี อบอุ่น เมตตาอาทรต่อศิษย์ ผมขอให้มาดูที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ได้เลย

39628765_1757817904333851_1298488052326334464_n

“การศึกษาไทยในอนาคตจะพัฒนาไปในทิศทางใด ต้องอาศัยรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมาต้นๆ ปีหน้าว่ามองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมดที่พันธนาการการศึกษาไทยอยู่ไหม และกล้าแก้ปัญหาไหม ผมเกรงไปว่ารัฐบาลใหม่จะไปกังวลกับการกลัวกระทบคะแนนเสียงอีก ผมเป็นคนมีความหวังนะ จึงตอบว่าโฉมหน้าการศึกษาไทยในอนาคตต้องหน้าตาดีกว่านี้แน่นอน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมให้มากกว่าเดิม และประชาชนต้องลุกขึ้นมาให้ความเห็นอย่างเป็นจริงเป็นจังมากกว่านี้ ส่วนว่าควรพัฒนาไปในทิศทางใด ผมว่าเรื่องนโยบาย 3R & 8C นี่ก็อย่าไปทิ้ง เดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อ และมุ่งเน้นทักษะทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษาต่อไป และเน้นทักษะการคิด คิดเชิงระบบ คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา สุดท้ายรัฐบาลไทยในอนาคตต้องแก้ปัญหายาเสพติดในเยาวชนให้ลดลงอย่างมีพัฒนาการให้ได้ มิเช่นนั้นเราก็จะติดหล่มไปอีกนาน” ผศ.ดร.ประภาศ กล่าว

สุดท้าย ผศ.ดร.ประภาศ ยังกล่าวเสริมในประเด็นที่ให้ครูปล่อยเกรด ไม่ให้นักเรียนติดศูนย์หรือซ้ำชั้น เพื่อโรงเรียนจะได้ผ่านการประเมินคุณภาพ ว่า ไม่ควรทำอย่างยิ่ง การประเมินต้องเน้นการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ผู้ปกครองอย่าไปเรียกร้อง ลูกเราเรียนไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน ตามสภาพจริง แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการให้นักเรียนซ้ำชั้นครับ นักเรียนที่ซ้ำชั้นจะมีปมด้อย จึงควรสอนเสริมคนที่ยังไม่ผ่าน ครูต้องอดทน ผู้บริหารสถานศึกษาต้องใกล้ชิด ส่วนผู้ประเมินจากเขตพื้นที่ หรือจาก สมศ. ต้องเป็นนักประเมินมืออาชีพ ประเมินตามสภาพจริงเพื่อช่วยเหลือ ไม่ใช่ประเมินเพื่อประณาม โรงเรียนอย่ากังวลถ้าตัวชี้วัดไหนประเมินแล้วได้ผลต่ำกว่าเกณฑ์ การประเมินต้องเป็นเรื่องสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นเรื่องน่ากลัว และซ้ำเติมปัญหาการศึกษาที่เรามีอยู่แล้ว

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=34358

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us