|

มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมเป็นอยู่อย่างเราชาวปักษ์ใต้ ปลูกสำนึกคนรุ่นใหม่หวงแหนวัฒนธรรมท้องถิ่น

ผู้บริหารและอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ฯ ร่วมชมกิจกรรม

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมเป็นอยู่อย่างเราชาวปักษ์ใต้ ปลูกจิตสำนึกนักศึกษาหวงแหนคุณค่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ห่วงคนรุ่นใหม่ไม่นิยมอาหารพื้นเมือง เร่งผลักดันสืบสานภูมิปัญญาส่งต่อสู่ลูกหลาน  

ผศ.นาถนเรศ  อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงกิจกรรมเป็นอยู่อย่างเราชาวปักษ์ใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า วัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ฯ ทุกชั้นปีราว 260 คน ได้รับความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีด้านอาหารการกินและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวใต้ เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่เกิดความรักและหวงแหนในคุณค่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งยังเปิดโอกาสให้แสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรม ผ่านการประกวดแต่งกายในหัวข้อวิถีปักษ์ใต้ แข่งขัน “ถิ้มน้ำชุบ” (ตำน้ำพริก) ประกวดภาพถ่ายขาวดำวิถีชีวิตเช้าชาวใต้ การแสดงทอล์คโชว์หนังตะลุงโดยนักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาไทยนิทรรศการและสาธิตให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้านภาคใต้ เช่น ขนมปากหม้อแป้งสาคู ขนมโค ขนมสอดไส้ ขนมด้วง ขนมกรวย และเต้าคั่ว จัดซุ้มกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เช่น หมากขุม หมากเก็บ เป่ากบ เป็นต้น

มอบรางวัลประกวดแต่งกายวิถีปักษ์ใต้

ผศ.นาถนเรศ กล่าวว่า การดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ ในที่นี้จะกล่าวถึงวัฒนธรรมภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงพื้นบ้านอย่างหนังตะลุง มโนราห์ นอกจากนั้น ยังมีวัฒนธรรมการกินต่างที่มีภูมิปัญญาในการคัดสรรวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ลักษณะของอาหาร กรรมวิธีการทำ และรสชาติที่เป็นที่ถูกใจชาวไทยด้วยกันเองรวมถึงชาวต่างชาติ อาหารภาคใต้ถือเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มักประกอบไปด้วย ข้าวสวย (เจ้า) อาหารคาวและผักเคียง เรียกว่าผักเหนาะ อาหารคาวหลายอย่าง เช่น ต้ม แกง ผัด นึ่ง ย่าง ยำ หรือตำ ในแต่ละมื้อต้องมีอาหารรสเผ็ดหนึ่งอย่างเสมอ ได้แก่ แกงเผ็ดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แกงส้ม แกงพริก แกงกะทิ และน้ำพริกหลากชนิด

ประกวดแต่งกายวิถีปักษ์ใต้

 อาจารย์ณับปราณ เตียวสกุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวบ้างว่า ทุกวันนี้อาหารพื้นเมืองของชาวใต้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความหลากหลาย โดยการนำเข้าและรับรูปแบบอาหารจากสังคมภายนอกเข้ามา มีการนำเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ มาผสมให้เกิดอาหารประเภทผัดและทอดมากขึ้น การปรุงรสมักมีผงชูรสและอื่นๆ เข้ามาผสม มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ คือ มีตำรับอาหารมากขึ้น ทั้งอาหารหลัก อาหารเสริม อาหารคาวหวาน ส่งผลให้อาหารพื้นเมืองที่ชาวใต้รับประทานเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก แม้จะดำรงอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่เฉพาะกลุ่มไว้ แต่คนรุ่นใหม่มักไม่นิยมอาหารพื้นเมืองภาคใต้แท้ๆ เช่น แกงพุงปลา บูดู ข้าวยำ ฯลฯ และไม่นิยมกินอาหารรสเผ็ดแบบคนท้องถิ่นภาคใต้ดั้งเดิม

บรรยากาศกองเชียร์ในการแข่งขัน “ถิ้มน้ำชุบ” (ตำน้ำพริก)

อาจารย์ณับปราณ กล่าวอีกว่า จากเหตุผลข้างต้นคณะมนุษยศาสตร์ฯ จึงจัดกิจกรรมเป็นอยู่อย่างเราชาวปักษ์ใต้ เพื่อสืบสานภูมิปัญญาโดยใช้กระบวนการต่างๆ เช่น เสริมสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างปราชญ์ชาวบ้านและครูภูมิปัญญา สาธิตภูมิปัญญาการทำขนมและอาหารพื้นบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาของทางคณะฯ และผู้เข้าร่วมงานเกิดความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาการทำขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง และผลักดันให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาให้คงอยู่สืบไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน

40841347_342111073195526_4576798432873676800_o

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=34452

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us