|

ธปท. เผย ศก.ใต้ ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีที่แล้ว แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน

0670CEA0-F347-4AA2-A14C-F3FADDADF1FE

ธปท. เผย ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 3 ปี 61 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญภาคใต้หดตัวจากผลของราคาที่ลดลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ผลผลิตภาคเกษตรชะลอตัวและราคายังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรยังหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ด้านการท่องเที่ยวชะลอตัวจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ผลกระทบจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต การลงทุนภาครัฐ – เอกชนขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน ขณะที่อัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลลดลงจากไตรมาสก่อน

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 61 ที่ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เป็นประธานแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 3/2561 และแนวโน้ม โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง

นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียที่ลดลง ผลกระทบเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่ จ.ภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 และเงินรูเบิลรัสเซียอ่อนค่าหลังจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวมาเลเซีย เอเชียอื่นๆ (ไม่รวมจีน) และยุโรป ขยายตัว หากพิจารณาตามพื้นที่ การท่องเที่ยวขยายตัวในภาคใต้ชายแดน ขณะที่ในฝั่งอันดามันชะลอลงมาก ส่วนฝั่งอ่าวไทยหดตัว

BFC93411-99AE-4F99-B8DE-636B07DCE94F

มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.5 และหากไม่รวมหมวดอากาศยาน เรือแท่น และรถไฟ การส่งออกลดลงร้อยละ 5.5 จากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ โดยมูลค่าลดลงในทุกหมวดสินค้าสำคัญภาคใต้ ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 3.0 โดยการผลิตยางพาราแปรรูปหดตัว ผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความต้องการใช้ยางของคู่ค้า สำหรับการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปลดลงจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามวัตถุดิบที่ลดลง ส่วนการผลิตไม้ยางและผลิตภัณฑ์หดตัวจากผลของการเข้มงวดเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจีน อย่างไรก็ดี การผลิตถุงมือยางและอาหารทะเลกระป๋องยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการของคู่ค้า

ผลผลิตเกษตรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.0 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ผลผลิตกุ้งขาวลดลงตามการลงลูกกุ้งที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ผลผลิตยางยังขยายตัว ตามพื้นที่เปิดกรีดใหม่และสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านราคาสินค้าเกษตรสำคัญภาคใต้หดตัวร้อยละ 16.5 โดยราคายางพาราลดลง ผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และสต็อกยางเซี่ยงไฮ้อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันราคากุ้งขาวลดลงตามปริมาณอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะจากอินเดีย ราคาปาล์มน้ำมันลดลงสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบไทยยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 13.2

1E28C876-E0CD-4BC6-BB19-D372C0B694E9

เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.6 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและหมวดยานยนต์ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์และรถกระบะที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ได้รับปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก และหมวดบริการที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.0 ตามมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง ประกอบกับพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการบริการในหมวดโรงแรมเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าทุนหดตัว

15DBCACC-26C5-4464-BB4D-EF15C7FAD418

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.5 โดยเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวร้อยละ 19.8 ตามการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง หมวดครุภัณฑ์ และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ขณะที่รายจ่ายประจำลดลงร้อยละ 5.3 ตามการเบิกจ่ายลดลงในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป ผลจากฐานสูงในปีก่อนที่มีโครงการพัฒนาภาคการเกษตร

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.51 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.13 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับอัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ลดลงจากไตรมาสก่อน ตามการลดลงของผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน

8B02A230-04BA-4F99-B183-53F5CF69C9C2

ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เงินฝากทั้งระบบเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.3 จากเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ประจำและสลากออมทรัพย์ ด้านสินเชื่อคงค้างทั้งระบบเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ตามการขยายตัวของสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยเฉพาะสินเชื่อระยะยาวที่ให้แก่เกษตรกรโดยตรง และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์หดตัวตามสินเชื่อประเภทตั๋วเงิน

668C7688-FA9B-491D-827A-BE2BC3BF02FA

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=34885

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us