|

เปิดบ้านแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-นิวซีแลนด์ มรภ.สงขลา ชวนสัมผัสควันหลงลอยกระทง Go อินเตอร์

0EE32D74-8A3C-40A7-B6E2-B398944F65B0

สัมผัสบรรยากาศควันหลงเทศกาลลอยกระทง พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมจากต่างแดน ไปกับกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-นิวซีแลนด์ : กระทงไทย Go อินเตอร์ ที่จัดขึ้นโดยคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ภายใต้แนวคิดใช้วัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาสองประเทศ ได้ทั้งรอยยิ้มและภาพความสนุกจากความสุขของทุกฝ่าย

อาจารย์อมรรัตน์ จิรันดร ประธานโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เล่าว่า บรรยากาศในการจัดกิจกรรมเต็มไปด้วยความสนุกสนานครึกครื้น โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากนักศึกษาในคณะฯ และนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศนิวซีแลนด์ รวม 6 คน ที่เดินทางมาเยือน มรภ.สงขลา และเข้าร่วมกิจกรรม “กระทงไทย Go อินเตอร์” ที่ทางคณะฯ จัดขึ้น ทุกคนให้ความสนใจและแสดงออกถึงความสุข ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนด้านศิลปะการแสดงของทั้งสองประเทศ การหัดทำกระทงร่วมกัน และการชวนนักศึกษานิวซีแลนด์มาสวมใส่ชุดไทย

9D60E140-D008-4C23-8ECE-4AA73787F73A

สำหรับการแสดงในชุด “ภูมิใจใต้” ที่นักศึกษา มรภ.สงขลา นำมาถ่ายทอดในนักศึกษาต่างชาติได้รับชมในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมภาคใต้ที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม ค่อนข้างมีความหลากหลายทางเชื้อชาติประชากรทั้ง คนจีน ไทยพุทธ และมุสลิม แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งคณะมนุษยศาสตร์ฯ เน้นการเรียนการสอนด้านความเป็นมนุษย์ และการจรรโลงสังคมให้น่าอยู่ การจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรม จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เสริมสร้างความเข้าใจในการอยู่รวมกันของสังคมที่มีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรม และเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้ชาวต่างชาติได้เรียนรู้ และมีความเข้าใจที่ถูกต้องในคราวเดียวกันด้วย

A1222A56-1C23-46F4-8B19-55409C97854D

ด้าน อาจารย์ณับปราณ เตียวสกุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้มุ่งหวังให้นักศึกษาตระหนักและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีไทย ด้วยการปฏิบัติให้เห็น ซึ่งการเชิญชวนนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากนิวซีแลนด์ ที่ต้องการมาเปิดประสบการณ์และเผยแพร่วัฒนธรรม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน กิจกรรมวันลอยกระทงของไทยนอกจากมีบรรยากาศสนุกสนานแล้ว ความละเมียดละไมอันเป็นเสน่ห์ของวัฒนธรรม ยังช่วยสร้างความอบอุ่นใจให้กับนักศึกษานิวซีแลนด์ด้วย สิ่งสำคัญคือ นักศึกษาของเราได้เห็นค่าของประเพณีที่มีอยู่อย่างแท้จริง

212E8F76-D39D-4B10-A88E-9773B17CC59A

อาจารย์ณับปราณ กล่าวอีกว่า สังคมไทยยุคปัจจุบันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีคนจากหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาอยู่อาศัย ประกอบธุรกิจ หรือศึกษาในประเทศไทย นอกจากนั้น ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลให้มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างไร้พรมแดน ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดการเผยแพร่และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกคือการผูกมิตรไมตรีและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนจากหลากหลายประเทศ ด้านลบคือความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันในหลายมิติ อันเนื่องมาจากรากฐานทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน การที่จะส่งเสริมด้านบวกและปรับทัศนคติที่เป็นเชิงลบระหว่างชาวไทยและชาวต่างชาติให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องหาหนทางนำผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกันเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรม วิธีคิดและพฤติกรรมของกันและกัน

969403DF-11C0-4A7C-9EE0-50D95C3EFA2D

อาจารย์วัจนี เปรมฤดีปรีชาชาญ ผู้ดูแลนักศึกษาจากนิวซีแลนด์ สังกัดหน่วงงาน Camp Students Link กล่าวบ้างว่า การแสดงของนักศึกษานิวซีแลนด์ที่นำมาแสดงในครั้งนี้ การแสดงของผู้ชายมีชื่อ Haka สมัยก่อนเป็นพิธีสำหรับปลุกใจและข่มขวัญศัตรูของชนเผ่าเมารีในประเทศนิวซีแลนด์ แต่ปัจจุบันนำมาใช้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและข่มคู่แข่งในการแข่งขันกีฬารักบี้ ส่วน Pai Dance เป็นการเต้นรำของผู้หญิงในเผ่าเมารี มีสำหรับงานฉลองและการต้อนรับ ทั้งสองการแสดงเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของประเทศนิวซีแลนด์

C7010833-98E7-492C-A85F-DF7EAE4B6F07

ขณะที่ Lata’ I Francisco To’a นักศึกษาสาวจากประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวด้วยรอยยิ้มและสีหน้าเปี่ยมความสุขว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อประเพณีลอยกระทงมาก่อนเลย แต่ด้วยความชอบในงานประดิดประดอย จึงมีความสุขและชอบมากที่ได้ทำกระทง ตนเคยเห็นชุดไทยจากโทรทัศน์รู้สึกว่าสวยงาม ดังนั้น จึงดีใจมากที่มีโอกาสใส่ชุดไทยที่ มรภ.สงขลา และดีใจที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครั้งนี้ จะนำความน่าสนใจของประเพณีลอยกระทงไปเล่าให้เพื่อนๆ ที่นิวซีแลนด์ ฟัง สิ่งที่ประทับใจในเมืองไทยก็คือคนไทย เพราะคนไทยมักจะยิ้มทำให้รู้สึกว่าเขาต้อนรับเราและชอบเรา

ปิดท้ายด้วย ซาฟาวี อีซอ นักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา กล่าวว่า นอกเหนือจากประเพณีลอยกระทงแล้ว ยังมีวัฒนธรรมและประเพณีไทยอีกอย่างที่อยากนำเสนอให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก แต่เนื่องจากช่วงนี้เพิ่งผ่านพ้นบรรยากาศเทศกาลลอยกระทงมาได้ไม่นาน จึงถือเป็นเรื่องดีที่ได้แลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรมระหว่างกัน แม้ตนจะไม่เคยทำกระทงมาก่อน เนื่องจากนับถือศาสนาอิสลาม แต่เห็นเพื่อนๆ จากนิวซีแลนด์ให้ความร่วมมือและบรรยากาศตอนทำก็สนุกสนานเป็นกันเอง ทำให้รู้สึกว่าเราสามารถใช้วัฒนธรรมสร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้นได้ 

มากกว่าการที่ประเพณีลอยกระทงของไทยจะถูกนำไปเล่าต่อยังประเทศนิวซีแลนด์แล้ว ภาพหลังเสร็จกิจกรรมเหล่านักศึกษาในคณะฯ เข้าไปล้อมวงพูดคุยกับนักศึกษานิวซีแลนด์ด้วยรอยยิ้มมิตรภาพอย่างไม่เคอะเขิน ทำให้เชื่อว่าวัฒนธรรมไม่ใช่ตัวแบ่งกั้นความเป็นเพื่อนมนุษย์ การร่วมมือแลกเปลี่ยนกันจะก่อเกิดความเข้าใจ อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความสุข

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=35868

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us