|

นศ.ครุฯ มรภ.สงขลา เขียนเรียงความ “พระบิดาแห่งการจัดการน้ำ” ถ่ายทอดความตื้นตันใจ รำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9

47490289_2046532292059565_1551883147036065792_o

“น้ำสำคัญยิ่งใหญ่ คือน้ำพระทัยสู่ปวงชน” คือการเปิดเข้าสู่เรียงความเรื่อง พระบิดาแห่งการจัดการน้ำ ที่ เบญญาภา อินสัน นักศึกษาโปรแกรมภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา ถ่ายทอดความรู้สึกตื้นตันใจต่อพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 จนชนะใจกรรมการคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง

การประกวดเขียนเรียงความ เรื่อง พระบิดาแห่งการจัดการน้ำ จัดทำขึ้นโดยกองพัฒนานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ปี 2561 โดยมีการมอบรางวัลและประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ชนะเลิศ คือ เบญญาภา อินสัน ในวันที่มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติ ณ บริเวณห้องโถงหอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา

เบญญาภา อินสัน รับรางวัลชนะเลิศจากรองอธิการบดี มรภ.สงขลา

เบญญาภา เผยถึงแรงบันดาลใจสำคัญในผลงานเขียนชิ้นนี้ว่า เกิดจากความความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อราษฎรมาตลอด และด้วยความที่เป็นคนในพื้นที่จังหวัดสามชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นพื้นที่สีแดง แต่ก็มีโครงการแกล้งดินของพระองค์ท่านมาช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีความรู้มาก่อน เป็นความรู้สึกตื้นตันที่พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งให้ประชาชนอยู่อย่างโดดเดี่ยว และภูมิใจที่ได้เกิดเป็นราษฎรของพระองค์ท่าน

เรียงความผลงาน เบญญาภา อินสัน

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ เมื่อทราบว่ากองพัฒนานักศึกษาจัดประกวดเรียงความในหัวข้อ “พระบิดาแห่งการจัดการน้ำ” จึงเกิดความสนใจที่จะถ่ายทอดพระอัจฉริยภาพด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบกับเคยเข้าร่วมโครงการปลาร้องไห้ จึงทำให้คุ้นเคยและพอมีความรู้เรื่องโครงการพระดำริ อาทิ โครงการฝนหลวง ที่มุ่งแก้ไขปัญหาน้ำแล้งหรือการขาดแคลนน้ำในการเกษตร ช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานในพื้นที่ภาคอีสาน เมื่อพระองค์ทราบถึงปัญหาและทรงหาวิธีแก้ไข จนปัจจุบันชีวิตของราษฎรก็ดีขึ้น

47434545_2046531955392932_7039189027181821952_o

โครงการแก้มลิง ที่มุ่งบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง นอกจากจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังส่งผลดีในการพัฒนาอาชีพราษฎรที่มีอาชีพทำนาเกลือและนากุ้งอีกด้วย โครงการกังหันชัยพัฒนาบำบัดน้ำเสีย ตามพระราชดำริ เกิดจากน้ำพระทัยของพระองค์ท่านที่ทรงห่วงใยราษฎร ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากน้ำเน่าเสีย พระองค์จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น

อีกหนึ่งโครงการที่มีบทบาทในการจัดการน้ำ คือ โครงการฝายชะลอความชุ่มชื้น ที่มุ่งฟื้นฟูป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารให้กลับคืนสู่สภาพเดิม พระองค์ทรงแนะนำให้สร้างฝายกั้นน้ำขนาดเล็กตามลำธารเพื่อชะลอการไหลของน้ำ น้ำของฟากฝั่งของลำธารจะให้ความชุ่มชื้นแผ่ไปทั่วจนทำให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังเป็นแนวกันไฟที่เรียกว่า “ป่าเปียก” อีกด้วย

47423859_2046531185393009_2797510378265772032_o

หากพูดถึงพระอัจฉริยภาพด้านการจัดการน้ำ ทั้งน้ำบนดินหรือแม้แต่น้ำบนฟ้า พระองค์ทรงมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าหาวิธีจัดการน้ำ เพื่อพระราชทานน้ำบรรเทาทุกข์ให้แก่ราษฎรทั่วทุกภาคมาโดยตลอด จึงไม่น่าแปลกใจที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาแหล่งน้ำมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับด้านๆ อื่น และยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างครบถ้วนในทุกๆ ด้าน

แม้วันนี้พระองค์จะเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่พระราชกรณียกิจรวมทั้งศาสตร์ทั้งปวงที่เกี่ยวกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำ การระบาย การควบคุม การทำน้ำเสียให้เป็นน้ำดี ตลอดจนการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมนั้น ย่อมประจักษ์ชัดและพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระองค์นั้นหาเสมอเหมือนได้ยากยิ่ง และควรค่าที่จะได้รับการเทิดพระเกียรติพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งการจัดการน้ำ” โดยแท้จริง 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=36163

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us