|

สงขลาเตรียมรับมือพายุ “ปาบึก”(PABUK) ย้ำทุกหน่วยดูแลประชาชนอย่างเต็มที่

20F25D0B-8482-4E02-AFF0-0BFDB0FC079F

จังหวัดสงขลา ร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) เพื่อติดตาม และเตรียมการรับมือพายุ “ปาบึก”(PABUK) ย้ำทุกหน่วยดูแลประชาชนอย่างเต็มที่

ช่วงบ่ายวันนี้ (2 ม.ค. 62) ที่ ห้องประชุม Conference ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นำหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายเชาวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา นายพนมเทียน เส้งวั่น ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายประสิทธิ์ ชรินานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 นางสาวพะเยาว์  เมืองงาม ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฯลฯ นายอำเภอทุกอำเภอ ร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) เพื่อติดตามและเตรียมการรับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก”(PABUK) โดยมี พลเอก อนุพงษ์เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ณ ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร

21DBAC9E-28EB-46FE-970E-6B7993CD228C

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก เฝ้าระวังฝนตกหนักและคลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 1-5 มกราคม 2562 กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จึงได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ทุกจังหวัด ร่วมประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) ในครั้งนี้ เพื่อติดตามและเตรียมการรับมือพายุดังกล่าว

E903CEBB-3AC4-4161-82D0-BA9DD7648364

ทั้งนี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการคาดการณ์สภาพอากาศในวันที่ 2-3 ม.ค. 62 จะเริ่มมีฝนในภาคใต้ตอนล่าง และคาดว่าในวันที่ 4-5 ม.ค.62 จะมีผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีจนถึงจังหวัดนราธิวาส แต่ความหนักเบาจะแตกต่างกัน และจะมีลมแรงโดยเฉพาะให้ระวังพายุคลื่นซัดฝั่ง ซึ่งมีความสูงของคลื่นประมาณ 3-5 เมตร ขณะนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้เพิ่มความถี่ในการตรวจสภาพอากาศจากทุก 3 ชั่วโมง เป็นทุก ๆ รายชั่วโมง โดยเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง

F4A7F04B-D30F-4CB9-8C6F-4A56AAE1878F

ด้านกรมชลประทาน ได้มีการประเมินปริมาณน้ำฝนเพื่อการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำได้อย่างเหมาะสมให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนมากที่สุดในห้วงดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 300 มิลลิเมตร/24 ชั่วโมง โดยทาง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่เร่งประเมินและลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การพร่องน้ำ การระบายน้ำ การเตรียมการช่วยเหลือประชาชน พร้อมย้ำเหล่าทัพเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ให้มีการเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ทราบ เพื่อเตรียมการป้องกัน และลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด

4BE516FD-ECBA-4794-B0AD-24435309D30A

ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามการให้ความช่วยเหลือ พร้อมส่งเครื่องจักรกลและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี พร้อมให้ท้องถิ่นเตรียมอพยพประชาชนไปในที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีการเน้นย้ำให้กรมเจ้าท่า แจ้งเตือนห้ามเรือเล็กออกจากฝั่ง แต่หากออกเดินเรือไปแล้ว ให้เรือเข้าจอดในที่กำบังลมกำบังคลื่น และให้ประสานกับทัพเรือภาคในการช่วยเหลือ

สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา รายงาน 2 ม.ค.62

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=36889

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us