|

สงขลาเชิญชวนเข้ารับบริการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส

50587081_2115052151908339_3042873093858000896_n

จ.สงขลา ขอเชิญชวนเข้ารับบริการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ (Mammogramy) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เนื่องในวโรกาสมหามงคล สมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวริชาลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระชนมายุครบ 5 รอบ

โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ (Mammogramy) ระยะที่ 5 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จังหวัดสงขลา ปี 2562 จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี 2555 เพื่อให้ประชาชนผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยง และด้อยโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จังหวัดสงขลา จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของจังหวัดสงขลา มูลนิธิกาญจนบารมี และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรณรงค์คัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เนื่องในวโรกาสมหามงคล สมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวริชาลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระชนมายุครบ 5 รอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน, ญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม, มียีนส์พันธุกรรมเต้านมผิดปกติ, ผู้ที่เคยฉายรังสีรักษาบริเวณหน้าอกมาก่อน และผู้ที่มีความผิดปกติของเต้านม (ก้อน, แผล, มีเลือด หรือน้ำเหลืองออกทางหัวนม) โดยให้สตรีกลุ่มนี้ได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาล ซึ่งหากพบสิ่งผิดปกติจะส่งต่อให้แพทย์ตรวจร่างกาย ซักประวัติ ปัจจัยเสี่ยง คัดเลือก เข้ารับการเอ็กซเรย์เต้านม

นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ยังกล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของสตรีไทย ในปี 2553 พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 13,184 ราย และเสียชีวิตประมาณ 4,665 รายหรือ ทุก 2 ชั่วโมงจะพบว่าสตรีไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม 1 คนและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ในระยะหลังๆ ซึ่งจะมีการลุกลามและแพร่กระจายไปแล้วร้อยละ 56 สำหรับกิจกรรมในการรณรงค์ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม การสอน /สาธิตการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และบริการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ซึ่งมีขบวนรถเคลื่อนที่ ประกอบด้วย รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่, รถนิทรรศการและให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม, รถตรวจและสอนการตรวจมะเร็งเต้านมโดยแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และรถเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่แบบประสิทธิภาพสูง การรณรงค์ตามโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ฯ ในครั้งนี้ ดำเนินการ การให้บริการระยะที่ 5 แก่ประชาชนทั่วไป และอาสาสมัครสาธารณสุข ที่มีปัจจัยเสี่ยงและประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ผ่านการคัดกรอง อำเภอละ 15-20 คน เพื่อเข้ารับการตรวจเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่โดยให้บริการ ดังนี้

วันที่ 23 ม.ค. 2562 ณ.ลานโคกไทร เทศบาลเมืองกำแพงเพชร อ.รัตภูมิ, วันที่ 24 ม.ค. 2562 ณ ศาลาประชาคม อ.บางกล่ำ, วันที่ 25 ม.ค. 2562 ณ ศาลาประชาคมอำเภอสทิงพระ, วันที่ 28 ม.ค. 2562 ณ ศาลาประชาคมไท้หัว อำเภอสะเดา และวันที่ 29 ม.ค. 2562 ณ ศาลาประชาคมอำเภอคลองหอยโข่ง

จึงขอเชิญสตรีกลุ่มเสี่ยง และด้อยโอกาสที่ได้รับการคัดกรองจากบุคลากรสาธารณสุขแล้ว กลุ่มสตรีผู้สนใจทั่วไปและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ดังกล่าว เข้าร่วมกิจกรรมตามวันและสถานที่ข้างต้นต่อไป ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้านได้ ทุกแห่ง

นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม คือ ผู้ที่มีประวัติครอบครัว หรือญาติสายตรงป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน มีการกินอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง หากพบความผิดปกติ เช่น พบก้อน เต้านมมีขนาดและรูปร่างเปลี่ยนไป หัวนมบุ๋ม มีน้ำไหลออกมาจากหัวนม หรือผิวของเต้านมมีลักษณะผิวเปลือกส้ม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เริ่มตรวจตั้งแต่อายุยังน้อย และเข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือพยาบาลเป็นครั้งคราว ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ประมาณปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากมะเร็งเต้านมยังไม่พบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด การป้องกันได้เต็มประสิทธิภาพจึงทำได้ยาก นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดและรับมือกับมะเร็งเต้านมได้ทันท่วงที

สำหรับการป้องกันโรคมะเร็งเต้านม ควรหลีกเลี่ยงการรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนในระยะยาว ควรเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้พอดี ไม่อ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดอาหารไขมันสัตว์ ควรกินผัก-ผลไม้สดเป็นประจำ ไม่ดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่ หากปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=37463

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us