|

ธปท. เผย ศก.ใต้ ไตรมาส 4 ปี 61 ชะลอลง รายได้เกษตรกรหด ขณะที่ท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง

IMG-8955

ธปท. ใต้ สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาส 4 ปี 61 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อย รายได้เกษตรกรที่หดตัวยังกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคฐานราก การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากภาคก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ การผลิตในอุตสาหกรรมยางแปรรูป ไม้ยาง และผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป รวมถึงน้ำมันปาล์มดิบหดตัว การลงทุนภาครัฐหดตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากไตรมาสก่อนตามราคาพลังงาน และอัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลทรงตัว

วันนี้ (4 ก.พ. 62) ที่ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เป็นประธานแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 และแนวโน้ม โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันทางการเงิน และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง

นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.1 จากจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น อาทิ อินเดีย ยุโรป และรัสเซีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปัจจัยลบที่กระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ดี เริ่มทยอยฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส หากพิจารณาตามพื้นที่ การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องในภาคใต้ชายแดน ขณะที่ฝั่งอันดามันชะลอตัว และฝั่งอ่าวไทยหดตัว

IMG-8957

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.4 ตามการขยายตัวของภาคก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างโดยเฉพาะหมวดที่อยู่อาศัยและหมวดโรงแรมที่ขยายตัว รวมถึงการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศหมวดวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้างเชิงโครงสร้างเป็นสำคัญ สอดคล้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการลงทุนโครงการใหม่ต่อเนื่อง

เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในหมวดบริการที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว นอกจากนี้ การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของ ภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในหมวดยานยนต์หดตัว ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำยังคงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคครัวเรือน

IMG-8960

ผลผลิตเกษตรหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.2 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่หดตัวสูงผลจากฐานสูง เนื่องจากผลผลิตที่ออกมากผิดปกติในปลายปีก่อนจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ขณะที่ผลผลิตยางพาราและกุ้งขาวขยายตัว ด้านราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 16.3 โดยหดตัวในทุกสินค้าสำคัญ ราคา ยางพาราลดลงเนื่องจากสต๊อกยางจีนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความต้องการใช้ยางในจีนชะลอลง ขณะเดียวกันราคาปาล์มน้ำมันและกุ้งขาวลดลงตามราคาตลาดโลก เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 17.3

มูลค่าการส่งออกลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.6 โดยลดลงในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ภาคใต้ ทั้งจากปริมาณและราคา ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.1 ตามการผลิตยางพาราแปรรูปที่ลดลงเนื่องจากความกังวลจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางลดลง การผลิตไม้ยางและผลิตภัณฑ์ยังคงได้รับ ผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในจีน อย่างไรก็ดี การผลิตถุงมือยางขยายตัวดีตามความต้องการ จากตลาดสหรัฐฯ สำหรับการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปลดลงต่อเนื่อง จากปัญหาวัตถุดิบตึงตัว ทั้งหมึกและปลา ประกอบกับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากุ้ง ทั้งนี้ การผลิตอาหารทะเล กระป๋องขยายตัวตามความต้องการจากคู่ค้าที่มีต่อเนื่อง รวมถึงราคาวัตถุดิบทูน่าที่ลดลงมาก สำหรับการผลิต น้ำมันปาล์มดิบยังคงหดตัว

IMG-8956

การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.4 ตามรายจ่ายลงทุนที่ลดลงร้อยละ 10.3 ในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมชลประทานและกรมทางหลวง และหมวดครุภัณฑ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและการเบิกจ่ายของกลุ่มจังหวัด อย่างไรก็ดี รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตามการเบิกจ่าย หมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเบิกจ่ายในหมวดค่าใช้สอยของกรมการพัฒนาชุมชน และหมวดค่าวัสดุของสำนักงานตารวจแห่งชาติและกรมการพัฒนาชุมชน

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.76 ลดลงจากร้อยละ 1.51 ในไตรมาสก่อน ตามการลดลงของราคาพลังงานเป็นสำคัญ สาหรับอัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ใกล้เคียง กับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการจ้างงานหลังปรับฤดูกาลที่ทรงตัว

ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2561 เงินฝากทั้งระบบเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.0 จากเงินฝากประเภทออมทรัพย์และประจำ ด้านสินเชื่อคงค้างทั้งระบบเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ตามการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีการรับโอนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อจากบริษัทในเครือ

IMG-8959

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=37931

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us