|

เมื่อกติกาการเลือกตั้งถูกเอาเปรียบ : ภาคประชาชนจากเหนือจรดใต้ต้องร่วมเฝ้ามอง (สังเกตการณ์)

IMG_4430

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่านต้องยอมรับว่าหากพิจารณาตามมาตรฐานสากลการออกแบบการเลือกตั้งวันที่ 24มีนาคม 2562 กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากติกาครั้งนี้น่าจะไม่มีความเป็นอิสระและยุติธรรม

ในเวทีดีเบตแกนนำพรรคการเมืองที่จัดโดยช่องไทยรัฐทีวี เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แกนนำทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกันว่ากติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกออกแบบมาไม่เป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากลและขาดความเสมอภาคของประชาชน ที่มองว่าหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ซ้ำยังให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) 250 คน ที่มีสิทธิยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ล้วนมาจากการคัดเลือกของ คสช. ซึ่งหัวหน้า คสช. ถูกเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐให้เป็นนายกรัฐมนตรี ยกเว้นท่านว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. ผู้ทรงเกียรติอย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มองว่า ส.ว. 250 คน ของ คสช. ผิดตรงไหน

สำหรับคำตอบที่ว่า ส.ว. 250 คน ของ คสช. ผิดตรงไหนนั้นก็เพราะว่า ผิดตรงที่ประชาชนไม่มีได้มีส่วนร่วมในการเลือกมา ผิดที่ ส.ว. คือเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของ คสช. และทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ เสียเปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้

I Lawได้ฉายภาพการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มีสิทธิยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นล้วนมาจากการคัดเลือกของ คสช. ซึ่งหัวหน้า คสช. ถูกเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐให้เป็นนายกรัฐมนตรี

มาดูกันว่า ส.ว. 250 คน ผิดตรงไหน? และแล้วก็เดินทางมาสู่ศึก #เลือกตั้ง62 แต่ระหว่างนี้หลายคนคงสงสัยว่า ส.ว. 250 คน มาจากไหน? ถึงมามีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ระบบแบบนี้มันเป็นเรื่องผิดหรืออย่างไร มาดูกัน

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ในช่วงห้าปีแรก มี ส.ว. 250 คน มีวิธีการได้มา 3 แบบ แม้ขั้นตอนจะดูซับซ้อน แต่สุดท้ายแล้ว ทุกรายชื่อที่จะเข้ามาเป็น ส.ว. ต้องผ่านการคัดเลือกของ คสช. ซะก่อน โดยขั้นแรก ให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มีความรู้ ประสบการณ์ด้านต่างๆ เป็นกลางทางการเมือง 9 – 12 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง ส.ว. จำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 194 คน และคัดชื่อสำรองอีก 50 คน

อีกส่วนหนึ่ง มาจากผู้ที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน คือ 1. พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม 2. พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3. พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก 4. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ 5. พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้บัญชาการทหารอากาศ 6. พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ส่วนสุดท้ายได้จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. โดยให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์หลายด้าน กลุ่มวิชาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน และคัดชื่อสำรองไว้อีก 50 คน จากที่มาสามทางนี้ก็จะได้ ส.ว.ครบ 250 คนพอดี

และเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐสภามี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน รวม 750 คน และ ส.ว. ที่ คสช. เลือกมาก็จะมาร่วมเลือกนายกฯ ด้วย (ซึ่งปกติเป็นหน้าที่ ส.ส. เท่านั้น) โดยนายกฯ จะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียง

20

แผนการสืบทอดอำนาจง่ายๆ ก็คือ ส.ว. ชุดแรก 250 คน ประกอบด้วย ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คนแล้ว ที่เหลืออีก 244 คน คัดเลือกโดย คสช. แค่นี้ก็เป็น 2 ใน 3 ของเสียงที่ใช้เลือกนายกฯ ได้ และเหลืออีกเพียงแค่ 126 เสียงจาก ส.ส.เท่านั้น

พรรคพลังประชารัฐจะต้องหา ส.ส. อีกไม่มากนัก และชวนพรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวทางเดียวกันมารวมกันอีกไม่กี่พรรค จัดสรรผลประโยชน์ตำแหน่งรัฐมนตรีให้ดี ส.ส. 126 คน ที่จะลงคะแนนเสียง เลือก ลุงตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ

เท่านั้นยังไม่พอ คสช. ยังได้ออกแบบระบบการนับจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบใหม่ไว้ตัดขากลุ่มอำนาจเก่า ที่เรียกว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA สร้างวิธีการคำนวนที่นั่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่พรรคการเมืองใดจะชนะและมี ส.ส. ครองเสียงได้เกินครึ่งสภา ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาหรือ 376 เสียงเอาไว้ใช้เลือกนายกฯ

ระบบ MMA ที่ว่านี้ นอกจากจะตัดโอกาสของพรรคขนาดใหญ่ที่จะครองที่นั่งจำนวนมากในสภาได้แล้ว ยังเกลี่ยคะแนนเสียงไปคิดคำนวณเป็นจำนวนที่นั่งเพิ่มให้กับพรรคขนาดกลางๆ และพรรคขนาดเล็ก ที่มีโอกาสจะได้ ส.ส.จากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งระหว่าง 10 – 30 คน ให้ได้ที่นั่ง ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกโดยไม่ต้องลงแรงอะไรมากมาย เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชนปฏิรูปของ #ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรครวมพลังประชาชาติไทย

เมื่อมีองค์ประกอบทั้งพรรคการเมืองที่จะมาเป็นกองหนุนบวกกับระบบกลไกที่เอื้อประโยชน์ให้พร้อมขนาดนี้แล้ว ไม่ว่าพรรคการเมืองจะต่อสู้แย่งชิงความนิยมกันขนาดไหน เส้นทางการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสองของลุงตู่ก็คงไม่ได้ยากเย็นเกินที่จะไปให้ถึง

นี่คือภาพรวมทั้งประเทศไม่ว่าภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แต่สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วยังพิเศษกว่านั้นเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ตั้งอยู่ใน #พื้นที่พิเศษภายใต้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับคือ 1. พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศในอำเภอและจังหวัดชายแดนอยู่แต่เดิมแล้ว 2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศตั้งแต่เดือน ก.ค. 2548 ในพื้นที่ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี ปัจจุบันยกเว้น อ.แม่ลาน จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อําเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ อ.สุคิริน จังหวัดนราธิวาส 3. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บังคับใช้ในพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ของ จังหวัดสงขลา รวมทั้ง อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส

“กฎหมายพิเศษ” ที่ว่านี้หมายถึงกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “เป็นพิเศษ” ในการตรวจค้น จับกุม คุมขัง สอบสวน และตรวจสอบหาหลักฐานนอกเหนือจากที่ให้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ทั้งนี้ เพื่อแก้ไข ควบคุม หรือยุติปัญหาหรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ (ซึ่งโดยนัยยะที่ถูกต้องย่อมหมายถึงความมั่นคงของประชาชน) ที่ผ่านมา “กฎหมายพิเศษ” ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แนวปฏิบัติ” ของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และละเมิดสิทธิของประชาชน จนเกิดปัญหาบานปลายประเภท “น้ำผึ้งหยดเดียว” หลายกรณี

ด้วยเหตุผลดังกล่าวในบรรยากาศการเลือกตั้งทำให้ประชาชน นักการเมืองและพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคที่เป็นคู่แข่งกับรัฐมีความกังวลอาจจะถูกฎหมายพิเศษต่างๆ เล่นงาน ขนาดกฎหมายปกติยังสามารถเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง กับผู้มีอำนาจรัฐที่ต้องการสืบทอดอำนาจทุกวิถีทาง (หรือแม้กระทั่งสื่อตามที่เป็นข่าวเชิงประจักษ์)

ดังนั้น ประชาชนทุกภาคส่วนตั้งแต่เหนือจรดใต้ ต้องร่วมเฝ้ามองหรือสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตยเพราะอย่าลืมว่ากระบวนการการเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม แต่ทว่าการเลือกตั้งต้องวางอยู่บนเงื่อนไขที่มีความเป็นอิสระ (Free) ยุติธรรม (Fair) จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ (Regular) และมีความหมายต่อประชาชน (Meaningful) จึงจะเป็นการเลือกตั้งที่มีความชอบธรรม

ในเวทีเสวนา “บทบาทการเลือกตั้งกับการสังเกตการณ์ในไทยเพื่อประชาธิปไตย” พร้อมออกแถลงการณ์เครือข่าย We Watch เรื่อง การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 15 ธันวาคม 2561 ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้ให้ทัศนะว่า

“ประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาประชาชนมีบทเรียนราคาแพงว่า สังคมใดที่ไม่มีกติกาที่ยอมรับร่วมกัน ในไม่ช้าก็เร็ว การใช้ความรุนแรงก็จะกลายเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การเปิดพื้นที่กลางสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างกระบวนการรองรับกับความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมจึงเป็นสิ่งที่มีสำคัญเป็นอย่างยิ่ง”

ด้วยสถานการณ์การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยคำถามและข้อสงสัยต่อความเชื่อมั่นว่าจะมีความเป็นอิสระ ยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เนื่องจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารที่มีทั้ง “มาตรา 44” “ประกาศคณะ คสช.” และ “คำสั่งของหัวหน้า คสช.” คอยกำกับ

ภายใต้สถานการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นรวมทั้งการแข่งขันทางการเมืองสูงมีวาทกรรมมากมายสร้างความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม มีกระแสข่าวปลอม ข่าวหลอก การใส่ร้ายป้ายสีนักการเมืองขั้วตรงข้าม และการบิดเบือนต่างๆ ก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัวนอกจากเราจะต้องรู้ทันปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ในช่วงใกล้เลือกตั้งแล้ว (โปรดดูบทความประกอบใน https://thaipublica.org/2019/02/io-telltale-signs/?fbclid=IwAR12-q-70tB7zXzXDo8mQ0sNOoirbEHQYxVSLmzoTbN__eZU9pNyWwcaZfw) มันได้เกิดข้อท้าทายกับภาคประชาชนเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำอย่างไรการเลือกตั้งครั้งนี้จึงจะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง และเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว

ดังนั้น ภาคประชาชน (หากเป็นไปได้) ทำงานร่วมกับ “We Watch” ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้ง โดยทำงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นอิสระและยุติธรรม เป็นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนได้โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบทางการเมืองด้านการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างใกล้ชิดแต่จะต้อง มีความเป็นอิสระจากฝ่ายต่างๆ โดยที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมผ่านการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยเป็นอาสาสมัครกับWe Watch ซึ่งอาสาสมัครนักสังเกตการณ์การเลือกตั้งมีทั้งหมด 2 ประเภท 1. ประเภทระยะยาว : ตลอดเดือนที่จัดการเลือกตั้ง เริ่มสังเกตตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 – วันที่ 24 มีนาคม 2562 และ 2. ประเภทระยะสั้น : สังเกตแค่วันที่ไปท่านไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเท่านั้น (24 มีนาคม 2562)

ช่องทางสมัคร ประเภทอาสาสมัครที่ท่านสนใจ เงื่อนไข รายละเอียดการเป็นอาสาสมัคร ลักษณะการทำกิจกรรม สิ่งที่จะได้รับ และคุณสมบัติของอาสาสมัครได้ที่ https://wewatchthailand.org/register_volunteer #จับตาเลือกตั้ง62 #สังเกตการณ์เลือกตั้ง

อีกทั้ง หากประชาชนได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม We Watch ก็จะทำให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งด้านประชาธิปไตย ซึ่งสอดคล้องกับบทสรุปสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตยฯเมื่อวันที่ 16 -17กุมภาพันธ์ 2562 ที่กรุงเทพมหานคร (ผู้เขียนร่วมสัมมนาด้วย) จัดโดยรัฐสภาโดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการในการสร้างนวัตกรรมประชาธิปไตย ระหว่างวิทยากรผู้ทรงวุฒิ ที่มีประสบการณ์ และกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ผู้นำชุมชนผู้นำองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ ประมาณ 200 คน (โปรดดูในเพจ โครงการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย)

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

 

 

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=38853

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us