|

สสก. 5 สงขลา นำสื่อฯ ชมการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ จ.พัทลุง

line_200281160123820_5

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา นำสื่อมวลชนชมการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ การบริหารจัดการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ที่จังหวัดพัทลุง หวังประชาสัมพันธ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 62 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จัดโครงการนำสื่อมวลชนจากจังหวัดสงขลา ศึกษาดูงานการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์สวนสะละลุงถัน, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองปริง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายตรอกร่วมใจ จังหวัดพัทลุง โดยมีนายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นางปรียา จิตตพงศ์ เกษตรอำเภอป่าบอน นายวิชัย ดำเรือง ผู้บริหาร รุ่นที่ 2 สวนสละลุงถัน นางสาวอำไพรัตน์ เรืองรักษ์ การตลาดและประชาสัมพันธ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองปริง และกลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายตรอกร่วมใจ ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

DSC_0991

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการศึกษาบวกกับการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ ซึ่งจังหวัดพัทลุงถือเป็นจังหวัดต้นแบบของการบริหาร การจัดการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ดี อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองปริง, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายตรอกร่วมใจ ที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มเกษตรกรกลุ่มอื่นในจังหวัดพัทลุงและภาคใต้ได้เป็นอย่างดี เพราะมีความเข้มแข็งในการบริหารกลุ่มให้มีความมั่นคง ยั่งยืน รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นในแง่ของการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาต่อยอดและสร้างรายได้ใหม่ให้กับคนและชุมชนของตนเอง และการปลูกสละยังสามารถใช้เป็นเกษตรทางเลือกใหม่ ที่จะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในภาคใต้ ทดแทนรายได้จากการปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่ถูกปรับลดราคาลง ทั้งยังเป็นการสนองนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร เรื่องของการสร้างผลไม้อัตลักษณ์ประจำจังหวัดอีกด้วย

นายสุพิท กล่าวอีกว่า สำหรับการปลูกสละ ทางจังหวัดพัทลุงได้มีแนวทางการขยายพันธุ์สละจากสวนลุงถัน จากเดิมที่มีพื้นที่แปลงเพียง 250 ไร่ มีสมาชิกกลุ่ม 50 ราย หลังจากนี้จะมีการเพิ่มจำนวนแปลงสละ และขยายพันธุ์ให้มากขึ้น และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต สำหรับผลสละที่มีคุณภาพเยี่ยม จะมีการคัดเข้าจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) อาทิ เทสโก้ โลตัส, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนผลสละที่มีคุณภาพต่ำกว่าจะถูกนำไปแปรรูป เป็นสละลอยแก้ว และสละอบแห้ง และในขณะนี้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิด กำลังได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

IMG20190320101502

โดยการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ สวนสะละลุงถัน เปิดให้บริการมานานถึง 16 ปี ซึ่งลุงถัน ดำเรือง เป็นผู้บุกเบิกพลิกแนวคิดจากการทำสวนยางพารา มาเป็นสวนผลไม้ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และคณะทัวร์ สำหรับการเรียนรู้ และผู้สนใจเข้าชมสวน ดูวิธีการผสมพันธุ์ ชิมสะละ (สละ) สดๆ จากสวน โดยสวนสละมีจุดเด่น คือ เป็นสวนเตียนโล่ง สะอาด ทั้งยังเคยได้รับรางวัลกินรี และยังมีกิจกรรมที่ไม่เหมือนใคร อาทิ เดินชมผสมพันธุ์สละ เมื่อผลสละที่ผสมไว้สุก มาเที่ยวใหม่สามารถตัดไปได้, การแข่งกินสละ ภายใต้สโลแกน “บอกไว กินไว ในล่อน”, การศึกษาวิถีชีวิตชาวซาไก, การศึกษากระบวนการแปรรูปสละ ซึ่งสามารถมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

IMG20190320130205

สำหรับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองปริง นางสาวอำไพรัตน์ เรืองรักษ์ การตลาดและประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองปริง ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 โดย นางหมิก เรืองรักษ์ ซึ่งในช่วงแรกมีการผลิตขนมข้าวมอดคั่ว ทองม้วน ขนมทองพับ ขนมขาไก่ และมาโด่งดังที่ข้าวแต๋นน้ำแตงโม เพราะได้ศึกษาทดลอง แล้วพบว่าในแตงโมมีสารชนิดหนึ่งที่ทำให้ข้าวแต๋นมีความกรอบ จึงลองเปลี่ยนวัตถุดิบจากเดิมที่ใช้มะละกอ ก็หันมาใช้แตงโมแทน และในจังหวัดพัทลุงเองก็มีชาวบ้านปลูกแตงโมจำนวนมาก ทำให้ราคาซื้อค่อนข้างถูก การทำข้าวแต๋นน้ำแตงโม จึงเป็นการกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ด้วย โดยเจ้าหน้าที่จากเกษตรอำเภอ ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ และแนะนำวิธีการทำข้าวแต๋นให้กับกลุ่มแม่บ้าน และทางกลุ่มฯ ได้มีทดลองทำ พัฒนา กว่า 10 จึงจะประสบความสำเร็จ ขณะนี้ข้าวแต๋นน้ำแตงโม ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่ม ซึ่งมีการผลิตวัน กว่า 24,000 แผ่นต่อวัน

IMG20190320130343

นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ชาขิงผง, ข้าวแต๋นน้ำแตงโม ที่ทำมาจากข้าวหลายชนิดขึ้น อาทิ ข้าวแต๋นสังหยด ข้าวแต๋นไรท์เบอร์รี่ ข้าวแต๋นหน้าธัญพืช และยังได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) อย. OTOP 5 ดาว และเครื่องหมายฮาลาล สำหรับการจำหน่าย จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบทอดสำเร็จ และยังไม่ได้ทอด สำหรับผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ทาง ในเฟซบุ๊กเพจ, ไลน์ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองปริง

line_200735262792308_4

และส่วนของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายตรอกรวมใจ มีการสร้างผลิตภัณฑ์เด่น เช่น การผลิตหัตกรรมจากกระจูด นำมาแปรรูปเป็นกระเป่า เสื่อ หมวก กล่องทิชชู เครื่องใช้สอยจักรสานชนิดต่างๆ มายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากท้องตลาด ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด รวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ และในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ต่าง อาทิ เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ ผลิตภัณฑ์จะถูกสั่งจองจากลูกค้าจำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลดีกับผู้ผลิต และชุมชน ทั้งนี้ แหล่งวิสาหกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดพัทลุง ทั้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงานของคนในจังหวัดและต่างประเทศได้อีกด้วย เพราะมีการสาธิตการนวดกระจูดก่อนนำมาใช้งาน การย้อมสีกระจูด และการจัดวางกระจูดเพื่อขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ในราคาที่ย่อมเยา และเมื่อไม่นานมานี้ มีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซียที่เข้ามาศึกษาดูงานด้วย

line_200275078492588_3

line_200750602674463_7

IMG20190320133322

IMG20190320103110

DSC_0972

 

น.ส.พิมพ์ศุภณัฐ อุทัยรัตน์ นักศึกษาฝึกประสบการณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=39847

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us