|

วิศวะฯ มทร.ศรีวิชัย พัฒนาระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ สู่ชุมชนท่าข้าม

_MG_0180

การบริการวิชาการแก่สังคมเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ให้บริการด้านวิชาการแก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ในรูปแบบต่างๆ ตามความถนัดและความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ โดยให้บริการวิชาการทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หน่วยงานสาธารณะ ชุมชน และสังคม ทั้งนี้รูปแบบการให้บริการวิชาการนั้นมีความหลากหลาย อาทิ การอนุญาตให้ใช้ทรัพยากรของสถาบัน เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ การทำประโยชน์แก่สังคม ได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์ นำมาสู่การพัฒนาหลักสูตร การบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเรียน การสอน รวมทั้งสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ สร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษา สร้างรายได้ให้กับคณะ นำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชน

_MG_0158

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) และองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้ามร่วมบันทึกข้อตกลง โครงการบริการวิชาการแก่สังคม ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บูรณาการร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์สาขาต่างๆ นำความรู้ในสาขาวิชาของตนไปถ่ายทอดและเผยแพร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนและท้องถิ่น สามารถต่อยอดความรู้ที่สอดคล้องและบูรณาการเข้ากับวิถีชุมชนได้เป็นอย่างดีจากการลงพื้นที่พบว่า ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มทำอาชีพที่หลากหลาย เช่น กลุ่มผลิตมันทอดบ้านเขากลอย กลุ่มเครื่องแกงสมุนไพรบ้านคลองจิก กลุ่มขนมถั่วทอด กลุ่มขนมเปี๊ยะ กลุ่มน้ำสมุนไพร และกลุ่มเพาะเห็ดแครง เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มอาชีพนำแนวคิดมาพัฒนาอาชีพให้มีความเข้มแข็ง ทาง มทร.ศรีวิชัย มองว่าชุมชนท่าข้ามมีความตั้งใจในการพัฒนาอาชีพ และสามารถต่อยอดให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มเพาะเห็ดแครง คณาจารย์พร้อมด้วยนักศึกษา มทร.ศรีวิชัย ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชาวบ้านในชุมชน พัฒนาให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพด้านอาหาร ซึ่งนวัตกรรมด้านอาหารมีความสำคัญในการเพิ่มผลผลิต นำไปสู่มาตรฐานของการผลิต การรับรองคุณภาพทางด้านอาหาร รวมถึงการนำสิ่งที่เหลือจากการผลิตนำมาผลิตซ้ำให้เกิดประโยชน์

_MG_0116

อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย กล่าวว่า สำหรับโครงการบริการวิชาการพื้นที่บ้านหินเกลี้ยง เป็นการพัฒนาระบบโรงเรือนเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติ พร้อมทั้งนำกลุ่มนักศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ลงพื้นที่ในการปฏิบัติงานจริง ทำการติดตั้งกล่องระบบให้เป็นแบบอย่างเพื่อใช้สำหรับการทดสอบและการใช้งานจริงของระบบควบคุมอัตโนมัติ โดยตัวกล่องที่ได้ออกแบบและพัฒนามานี้ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 5 ปี มีการติดตั้งกล่องระบบให้กับกลุ่มเกษตรกรและศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ในหลายพื้นที่ อาทิ ต.กระดังงา ต.ท่าข้าม ที่บ้านหินเกลี้ยงเป็นอีกศูนย์เรียนรู้สำหรับการเรียนรู้ การสาธิต ระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติ โดยระบบจะมีการใช้พลังงานที่ต่ำมาก ทั้งระบบจะใช้พลังงานไม่ถึง 15 วัตต์ จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการเพาะเห็ดในรูปแบบอื่น นอกจากนี้ตัวกล่องพัฒนาระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติยังถูกออกแบบและควบคุมให้สามารถใช้ในการเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ ได้ อาทิ เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม และเห็ดหลินจือ สำหรับหลักการทำงานของระบบจะไม่ใช่เป็นแบบตัวตั้งเวลาอย่างเดียวแต่จะมีการเช็คอุณหภูมิ จะมีเซนเซอร์ตัววัดอุณหภูมิมีความละเอียด 0.1 องศา โดยนำตัวเซนเซอร์ดังกล่าววางไว้ใต้ก้อนเห็ดแครง เมื่อก้อนเห็ดแครงมีอุณหภูมิสูงขึ้น ตัวกล่องระบบก็จะทำการสั่งรดน้ำ ตัวให้น้ำก็จะพ่นละอองน้ำให้กระจายรอบโรงเรือน มีรัศมีการกระจายละอองน้ำประมาณ 5 เมตร การให้น้ำแบบนี้จะไม่มีตัวตกค้างอยู่ในก้อนเห็ดแครง จะช่วยให้เห็ดแครงออกดอกอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

_MG_0062

ด้าน นางเพ็ญพร ขวัญขำ ประธานกลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ดแครง ชุมชนบ้านหินเกลี้ยง กล่าวว่า หลังจาก มทร.ศรีวิชัย เข้ามาติดตั้งกล่องระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัตินั้น มีประโยชน์กับทางกลุ่มอย่างมาก ช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ทำให้กลุ่มเกษตรกรบ้านหินเกลี้ยง ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ใช้เวลาว่างหลังจากการทำสวน ช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

_MG_0051

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยโทรศัพท์ 089 – 7386158

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=41742

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us