|

สปข.6 สัมมนาสื่อฯ หนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต.

line_530707787527458

สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ จัดสัมมนาสื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ “สื่อสาร สร้างความเข้าใจ สู่ใต้สันติสุข” เดินหน้าสร้างความเข้าใจแก่สื่อมวลชน เกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน โครงการ และการพัฒนาในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขยายผลสู่ความเข้าใจของประชาชน พร้อมนำสื่อมวลชนบางส่วนศึกษาดูงานความคืบหน้าโครงการต่างๆ ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา

เมื่อระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ จัดงานสัมมนาสื่อมวลชนในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิด และบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สื่อกับการสร้างภาพลักษณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้”
พร้อมด้วย นางสาววงค์ทิพย์ จันทภาโส ส่วนแผนงานและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนในพื้นที่กว่า 80 คน เข้าร่วมสัมมนา ที่ โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี

นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่ 5 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ 1. ลดความรุนแรงและใช้แนวทางสันติวิธี 2. ลดเงื่อนไขความรุนแรง อย่างการเปิดการเจรจากัน 3. สร้างพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง 4. การพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ 5. สร้างความเข้าใจให้กับคนและนอกพื้นที่ ร่วมถึงชาวต่างชาติด้วย ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้เน้น โดยนำนโยบาย “เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เน้นทำความเข้าใจแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปลุกพลังจิตอาสาสร้างสรรค์ผลงานขยายภาพลักษณ์ที่ดี “รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน เน้นการสร้างเอกภาพและการบูรณาการของทุกภาคส่วนในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ การเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้ความสำคัญกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกสำคัญในการสร้างเอกภาพการบูรณาการ โดยให้สื่อมวลชนช่วยนำเสนอสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย

61786495_615237495618225_2933989694309924864_n

ทั้งนี้ ภายในงาน ยังได้รับเกียรติจาก พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การสื่อสารสร้างความเข้าใจในสังคมพหุวัฒนธรรม” โดย เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเรื่องราวดีๆ อยู่ทุกวัน ซึ่งทางภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันคิดหาวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้เกิดความสงบสุข ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสิ่งที่จะตอบโจทย์คือความเข้าใจ ตามหลักทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่าง “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ซึ่งความเข้าใจ คือ การรับรู้ว่าชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาสิ่งใดบ้าง แล้วหาทางช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง, การเข้าถึง คือ การรับรู้ถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหา เพื่อจัดการแก้ไขที่ถูกจุด และการพัฒนา คือ การให้ความรู้ทั้งด้านศาสนา และการศึกษาเพื่อพัฒนาคน พัฒนาท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการเสวนาเกี่ยวกับโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยเชิญ 3 นายอำเภอเมืองต้นแบบมาร่วมพูดคุยและนำเสนอให้กับสื่อมวลชนได้รับฟัง โดยนายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า อ.สุไหงโกลกได้มีโครงการปรับปรุงให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าจัดตั้งร้านปลอดภาษีบางพื้นที่ โดยคาดหวังว่าจะเปิดทั้งเมืองในไม่ช้า โดยแต่ละจุดจะไม่ซ้ำช้อนกันในแต่ละประเภทสินค้า เชื่อได้รับความสนใจจากทั้งชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น
ด้าน พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอเบตง จ.ยะลา กล่าวถึงเมืองต้นแบบสำหรับเบตง ว่า อำเภอเบตงถือว่าเป็นเมืองที่พัฒนาพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบด้านการท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก เน้นการท่องเที่ยวสามอย่าง คือ 1. การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2. การท่องเที่ยวเชิงอาหารการกิน และ 3. แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งยังมีการนำเสนอให้ทางรัฐช่วยเหลือให้อำเภอเบตง สามารถมีจุดออกวีซ่าได้, อนุญาตให้ฟรีวีซ่าและสามารถอยู่ในพื้นที่ได้ภายใน 72 ชั่วโมง สำหรับคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่ถือเป็นตลาดที่สำคัญเข้ามาท่องเที่ยวพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เพิ่มรายได้เข้าสู่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะเบตงให้มากขึ้น เพราะเป็นที่นิยม พร้อมทั้งพัฒนาสัญญาณโทรศัพท์ที่มาเลเซียเมื่อเข้ามาในไทยสามารถใช้ Roaming ได้ด้วย

61887010_896522347361515_5602767503143993344_n
ขณะที่ นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า อำเภอหนองจิกถือเป็นเมือง 1 ใน 3 เมืองทางภาคใต้ที่มีความยากจนสุด ที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 30,000 บาท ต่อคนต่อปี รัฐพยายามพัฒนาเพื่อไม่ให้เกิดความเลื่อมล้ำจึงให้เป็นเมืองต้นแบบ โดยเน้นด้านเกษตรอุตสาหกรรมเพราะรัฐมองเห็นศักยภาพพัฒนาได้หลายด้าน อาทิ ด้าน Logistic และการคมนาคมขนส่ง เป็นเมืองหน้าด่านของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถเดินทางและกระจายสินค้าได้ทั้งทางบกและทางทะเล, พื้นที่และผลิตผลทางการเกษตรมีจำนวนมากเหมาะสมในการตั้งโรงงานเพื่อแปรรูปทางการเกษตรต่างๆ การทำเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร, มีส่วนราชการทุกระดับ รวมทั้งหน่วยงานกองกำลังในการบูรณาการความร่วมมือได้อย่างเต็มที่ และมีโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ การรวมกลุ่มของประชาชนทางด้านการเกษตรจำนวนมากและมีความเข้มแข็ง พร้อมสนับสนุน Young Smart Farmer ในพื้นที่, ส่งเสริมกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน สินค้า OTOP อีกด้วย

ซึ่งก่อนจะจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 ได้นำสื่อมวลชนบางส่วนกว่า 36 ชีวิต ลงพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อศึกษาความก้าวหน้าของโครงการด้านต่างๆ ได้แก่ การปลูกผักน้ำ การเลี้ยงปลานิลน้ำไหล ความคืบหน้าท่าอากาศยานเบตง ฟาร์มคีรีเบย์ “ต้นทางความอร่อย…ไก่เบตง” โรงไฟฟ้าชีวมวล การพัฒนาจุดชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ ในระหว่างวันที่ 12 – 14 พฤษภาคม 2562 เพื่อให้สื่อฯ นำข่าวสารไปเผยแพร่ให้ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ได้เข้าใจและรับทราบ สามารถติดตามได้ในหนังสือพิมพ์สมิหลา ไทมส์ ฉบับต่อไป

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=42179

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us