|

มรภ.สงขลา จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ “วค. แต่แรก” ฉลอง 100 ปี โรงเรียนฝึกหัดครู สู่มหาวิทยาลัยราชภัฏ

DSC_9389

มรภ.สงขลา จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์’ 62 “วค. แต่แรก” ฉลอง 100 ปี โรงเรียนฝึกหัดครูสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะฯ เชิดชูคุณค่าวิถีชุมชน สะท้อนตัวตนรากแก้วของแผ่นดิน  

ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2562 “100 ปี โรงเรียนฝึกหัดครู สู่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา : วค. แต่แรก” ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม-5 สิงหาคม ว่า ได้รับเกียรติจาก นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี มรภ.สงขลา รวมทั้งส่งเสริมภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม สร้างความมีส่วนร่วมด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับเครือข่าย ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมไทยทุกภูมิภาคและอาเซียน ทั้งยังเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์เกษียณและศิษย์เก่าผู้ทำคุณประโยชน์ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม

ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา เปิดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์

นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การทำหน้าที่เป็นสถาบันผลิตครูต่อเนื่องยาวนานมาถึง 100 ปี และได้ผลิตบัณฑิตสาขาอื่นๆ มายาวนานถึง 36 ปี ย่อมสร้างคุณูปการในการบุกเบิกพัฒนาสังคมชนบท ยกระดับความเป็นอยู่ ทั้งด้านวิชาความรู้ สุขภาพอนามัย ตลอดจนสร้างผู้นำทางการศึกษาแต่เพียงสถาบันเดียวมานานนับครึ่งศตวรรษ กว่าจะเกิดสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ มาช่วยกันพัฒนาจังหวัดสงขลาและบ้านเมืองของเราดังในภาวะปัจจุบัน มรภ.สงขลา ทำงานคลุกคลีกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง ประกอบพันธกิจที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีความโดดเด่นในการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งด้านการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ ซึ่งถือเป็นพันธกิจที่สำคัญยิ่ง เพราะการรักษาวัฒนธรรมคือการรักษาชาติ ขอชื่นชมที่เห็นความสำคัญในการรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ ควบคู่กับการเปิดโลกทัศน์สู่สากล ซึ่งนับเป็นการพัฒนาที่มุ่งไปข้างหน้าโดยไม่ลืมแลไปข้างหลัง อันจะเป็นการพัฒนาคนและสังคมได้อย่างพอเหมาะพอควร

DSC_9474

อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาและคุณลักษณะบัณฑิต มรภ.สงขลา กล่าวว่า งานวัฒนธรรมสัมพันธ์จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2531 นับถึงบัดนี้จัดมาเป็นเวลายาวนานถึง 31 ปี กลายเป็นต้นแบบการจัดงานทางวัฒนธรรมของหน่วยงานต่างๆ อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์นอกจากเพื่อส่งเสริมภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ในลักษณะต่างๆ กัน อาทิ การจัดการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน 4 ภาคของไทย การแสดงทางวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซีย พม่า ไต้หวัน และ อินโดนีเซีย การแสดงพื้นบ้านภาคใต้ คือ หนังตะลุงและโนรา พิธีบวงสรวงและสักการะทวดช้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือของชาวตำบลเขารูปช้าง รวมทั้ง มรภ.สงขลา การประชุมและสัมมนาวิชาการทางด้านวัฒนธรรม การจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองของภาคต่างๆ และสินค้าราคาถูก

DSC_1749

ด้าน อาจารย์โอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า  มรภ.สงขลา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจในการส่งเสริม เผยแพร่ อนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาติ การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมเป็นภารกิจสำคัญในการส่งเสริมเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรม ทางมหาวิทยาลัยจึงเห็นความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือเป็นรากแก้วของแผ่นดิน วัฒนธรรมเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตที่ชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ ได้พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต โดยแสดงออกในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา ศิลปะการแสดง ฯลฯ

DSC_1739

ดังนั้น เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้คนในชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนัก มีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเผยแพร่และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณค่าความหลากหลายของศิลปะและวัฒนธรรมไทย ทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ค่านิยมและความเป็นไทย เนื่องจากปัจจุบันวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกละเลยและมีการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่น้อย เช่น การแต่งกาย ภาษาพูด รวมทั้งประเพณีและวิถีชีวิตที่ดีงาม ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมได้มีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

DSC_1717

“หากมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลายกันในพื้นที่ ไม่ได้รับการสืบสานและอนุรักษ์ฟื้นฟู รวมถึงพัฒนาต่อยอดให้เกิดคุณค่าทางสังคมและจิตใจ ย่อมทำให้คุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมลดน้อยไปจนแทบจะสูญหาย วัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมองค์ความรู้ในแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่มีภูมิปัญญาหลากหลาย จึงสมควรที่จะได้รับการถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นหลังสืบไป” ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าว

DSC_1681

DSC_9444

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=44544

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us