|

สงขลาขับเคลื่อนพัฒนาความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่แผนงาน IMT-GT

67634230_885059398527775_8767555279513452544_n

จังหวัดสงขลา ขานรับนโยบายรัฐบาล ขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่แผนงาน IMT-GT และแผนงาน BIMP EAGA ในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการค้า และการลงทุน

วันนี้ (6 ส.ค. 62) ที่ห้องประชุม Conference ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมต้อนรับคณะที่ปรึกษาจากธนาคารพัฒนาเอเชีย นำโดย Ms.Pamela Asis-Layugan ในการร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่แผนงาน IMT-GT และแผนงาน BIMP EAGA โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , ธนาคารพัฒนาเอเชีย , สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา , องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา , สมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ , สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้จังหวัดสงขลา , สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ฯลฯ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน

68320119_461687671048489_7501181311839633408_n

สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการประเมินนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่แผนงานเขตเศรษฐกิจอาเซียนตะวันออก-บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย (อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย) รวมทั้งการพิจารณาถึงโอกาส ความสำเร็จ และข้อจำกัด

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการค้า และการลงทุน จึงได้กำหนดให้ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นรวม 10 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดตาก จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดเชียงราย จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา

67917182_1145741138960596_8238587210417307648_n

โดยในส่วนของเขตพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบลของอำเภอสะเดา ได้แก่ ตำบลสะเดา ตำบลสำนักขาม ตำบลสำนักแต้ว และตำบลปาดังเบซาร์ รวมพื้นที่ 552.3 ตารางกิโลเมตร (334,187.5 ไร่) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา มีพื้นที่ของรัฐที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก่อนเบื้องต้น ณ ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จำนวนกว่า 1,069 ไร่ มีด่านชายแดนสะเดา และด่านชายแดนปาดังเบซาร์ เป็นจุดผ่านแดนถาวรเชื่อมต่อกับรัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดอันดับหนึ่ง และสอง

ในส่วนของศักยภาพและโอกาสของจังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคใต้ มีด่านศุลกากร ซึ่งเป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าสูงสุดอันดับหนึ่งและสองของประเทศ อยู่ใกล้ท่าเรือปีนัง ท่าเรือกลางของมาเลเซีย ซึ่งมีการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย ผ่านทางด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ มีฐานการผลิตในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา อาหารทะเล อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ภายใต้โครงการความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT-GT อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โอกาสการพัฒนาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างสะเดากับบูกิตกายูฮิตัม มาเลเซีย เพื่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และบริการ รวมทั้งการขยายโอกาสความร่วมมือทางการค้า การลงทุนต่อเนื่องในแนวทางด่วน เหนือ-ใต้ในมาเลเซียเข้าสู่พื้นที่ตอนในของมาเลเซีย

67943069_716620105454466_8317687769136627712_n

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ กิจการเป้าหมาย ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี , ประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริม ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี สำหรับกิจการในกลุ่ม A1 (อุตสาหกรรมฐานความรู้กิจการที่ลงทุนในสินทรัพย์ถาวรไม่สูงเน้น R&D ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว) , A2 (โครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศกิจการที่ใช้เทคโนโลยีสูง กิจการด้านสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญที่มีการลงทุนในประเทศน้อย หรือยังไม่มี)

ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี 8 ปีอยู่แล้ว จะให้ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปีเพิ่มเติม , สิทธิประโยชน์อื่นๆได้แก่หักค่าขนส่งไฟฟ้าและประปาสองเท่าเป็นเวลา 10 ปีหักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกได้ร้อยละ 25 ของเงินลงทุน นอกเหนือจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบ และวัสดุจำเป็นสำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลา 5 ปี อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ

สำหรับกลุ่มกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ประกอบด้วย 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง , กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง , กลุ่มที่ 3 การผลิตเครื่องเรือน , กลุ่มที่ 4 กิจการโลจิสติกส์ , กลุ่มที่ 5 นิคม หรือเขตอุตสาหกรรม , กลุ่มที่ 6 กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และกลุ่มที่ 7 กิจการสิ่งพิมพ์

สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา รายงาน 6 ส.ค. 62

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=44831

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us