|

รมช.มหาดไทย กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงรับรอง ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ในงานประชุมวิชาการ “เมืองท่าและเส้นทางการค้าทางทะเลแห่งเอเชีย 2562”

6d4e2b6408cd16ff67d8782bdda8a0c9_small

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงรับรอง ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ในงานประชุมวิชาการ “เมืองท่าและเส้นทางการค้าทางทะเลแห่งเอเชีย 2562”

ช่วงค่ำวานนี้ (6 ต.ค. 62) ที่ โรงแรม เดอะเบด เวเคชั่น ราชมังคลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงรับรอง ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ในงานประชุมวิชาการ “เมืองท่าและเส้นทางการค้าทางทะเลแห่งเอเชีย 2562” โดยมีนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนางกัญจนา เกลี้ยงเกลา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางฉลวยพงศ์สุวรรณ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา , นายรังสี รัตนปราการ เจ้าของโรงสีแดงรุ่นที่ 3 และประธานภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม , นายสืบสกุล ศรีสุข ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม , ดร.จเร สุวรรณชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย , นายสรรเพชร บุญญามณี , นางกัลยา บุญญามณี , นางสาวชัญญณัท ทองคณารักษ์ หัวหน้าฝ่ายวางผังพัฒนาเมือง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองผังเมือง องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ร่วมให้การต้อนรับอย่างพร้อมเพรียงกัน

dc285212b5dc8d2f9cbe1e77f2a7429a_small

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในนามของชาวจังหวัดสงขลา มีความยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ที่มาเยือนจังหวัดสงขลาอีกครั้งหนึ่งในวันนี้ “สงขลา” เป็นเมืองสำคัญของประเทศไทยมาแต่โบราณ จากการมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ปากทะเลสาบสงขลาออกสู่อ่าวไทย เป็นเมืองท่าเรือเชื่อมต่อกับทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิค เป็นต้น เป็นเส้นทางการค้าขายทางบกข้ามคาบสมุทรมลายูไปยังมหาสมุทรอินเดีย “สงขลา” จึงเป็นเมืองท่าในเส้นทางการค้าระหว่างดินแดนตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่น หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังดินแดนตะวันตกอย่างอินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย และยุโรป “สงขลา” จึงกลายเป็นเมืองท่าการค้านานาชาติที่พ่อค้า และนักเดินเรือต่างแวะพักและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามาอย่างยาวนานนับพันปี ทำให้เกิดการผสมผสานของหลากหลายวัฒนธรรมที่ยังคงเหลืออยู่เป็นประจักษ์พยานจนถึงทุกวันนี้

c0882e0f3707f9fbb14bb1b958a96371_small

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบประกาศให้สงขลา ร่วมกับอีก 6 เมือง เป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นมาของชาติไทยมีความมุ่งหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หน่วยงานจากส่วนกลาง ร่วมกันอนุรักษ์เมืองเก่าตามแบบอย่างสากล นับแต่สงขลาได้รับการประกาศให้เป็นเมืองเก่าสำคัญของประเทศ ก่อให้เกิดแรงผลักดันให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตื่นตัวระดมความคิดที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาเมืองเก่าสงขลา ประกอบกับในปี 2551 เมืองปีนัง ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกับเมืองสงขลา ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก ทุกคนจึงย้อนกลับมาดูเมืองเก่าสงขลาซึ่งมีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่าเมืองปีนัง มีลักษณะองค์ประกอบของเมืองคล้ายกัน ถ้ามีการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างถูกทิศทาง น่าจะมีโอกาสได้รับการประกาศเป็นเมืองมรดกโลกเช่นเดียวกัน จึงเริ่มเชิญนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศมาเยี่ยมเยือนเมืองสงขลา เพื่อรับฟังความคิดเห็นและประเมินศักยภาพของเมืองที่จะพัฒนาสู่เมืองมรดกโลก

cb299be18bfddab88f3608303dfd6214_small

สำหรับแนวคิดเรื่องมรดกโลกมาจากรากฐานที่ว่า มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติเป็นสมบัติที่หาค่ามิได้ และไม่อาจทดแทนได้ ไม่เพียงสำหรับแต่ละประเทศเท่านั้น แต่สำหรับมนุษยชาติโดยรวม การสูญเสียมรดกอันล้ำค่านั้น จะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาคมทั้งโลก และเรียกคุณค่าที่เป็นพิเศษนี้ว่า “คุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value หรือ OUV)” โดยการที่เราจะพิจารณาว่าแหล่งนั้น ๆ มี OUV หรือคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลนี้หรือไม่ จะต้องผ่านคุณสมบัติ 3 ข้ออันเป็น 3 เสาหลักของ OUV ประกอบด้วย คือ ต้องมีคุณค่าตามเกณฑ์การพิจารณาคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลอย่างน้อย 1 ข้อจากที่มีอยู่ 10 ข้อ (มีคุณค่าตามเกณฑ์เพียงข้อเดียวก็สามารถเป็นมรดกโลกได้) , ต้องมีความครบถ้วน และความแท้ , ต้องมีการปกป้องคุ้มครองและการจัดการที่เหมาะสมอันเป็นหลักประกันที่จะรักษาคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลนี้ไว้ได้ ทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นเรื่องที่พวกเราชาวสงขลาต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำความเข้าใจ แสวงหาคำชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ และต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่พวกเราต้องการ

การที่สงขลาจะได้รับการประกาศเป็นเมืองมรดกโลกเมื่อใดนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าในระหว่างทางที่เราได้เตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการนั้น เราได้ปลุกจิตสำนึกของพวกเรากันเองให้เห็นความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายได้สร้างสมไว้ให้หลายร้อยปี ช่วยกันรักษา ฟื้นฟูเมืองของเราให้กลับมาเป็นเมืองสำคัญเช่นในอดีต เราจะใช้กระบวนการอนุรักษ์สู่เมืองมรดกโลกของยูเนสโก เป็นเครื่องมือ เป็นแนวทางในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของเราไว้ เพื่อส่งมอบให้คนสงขลารุ่นต่อไปได้ภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนสงขลา และช่วยกันอนุรักษ์ไว้อย่างยั่งยืน ซึ่งประโยชน์ที่สงขลาจะได้รับหากได้เป็นเมืองมรดกโลก

d1a96e741b2bc69909d3582756ab478e_small

ด้านการอนุรักษ์ สงขลาสามารถปกป้อง นำเสนอและส่งผ่านมรดกที่มีคุณค่าสูงในระดับสากลไปสู่คนในรุ่นต่อไปได้อย่างเหมาะสม ด้วยการเป็นมรดกโลกจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งในเรื่องคุณค่า เรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา อารยธรรมต่าง ๆ เพื่อการอนุรักษ์ และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ได้มาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถมีการตรวจสอบได้ เป็นหลักประกันว่าแหล่งมรดกนั้น ๆ จะยังคงอยู่สืบต่อไปพร้อมด้วยการที่จะยังคงรักษาคุณค่าที่โดดเด่นนั้นไว้ได้

ด้านเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการเป็นมรดกโลกของแหล่งนั้น ๆ ย่อมเป็นกลไกสำคัญในการสร้างแรงจูงใจในการมาเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างรายได้ที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่มรดกโลกและบริเวณโดยรอบ สร้างงานและกระจายรายได้สู่ชุมชนได้เป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องตระหนักว่าการเติบโตของการท่องเที่ยวที่ขาดการวางแผนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงความยั่งยืนไว้รองรับ

eb6b02455a4671d010ef64f40828598d_small

ด้านสังคม สงขลาเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ประกอบด้วยคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม และคนไทยเชื้อสายจีน อย่างละเท่า ๆ กัน มีการหลอมรวมวัฒนธรรมเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของเมืองสงขลา จนมีคำกล่าวว่า “สามหลัก ผสมเกลียว เป็นหนึ่งเดียวในสงขลา” ดังนั้น การที่เราให้ความสำคัญ และยกย่องบทบาทของคนทุกกลุ่มว่า เป็นผู้ร่วมกันสร้างเมืองสงขลา ผ่านความทุกข์ความสุขมาด้วยกัน มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ด้วยกันย่อมสร้างความผูกพันในทุกกลุ่มชาติพันธุ์ และความเชื่อ ว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสามัคคีกันนั้น จะสร้างความเจริญให้กับบ้านเมืองและลูกหลานอย่างยั่งยืน

ด้านความมั่นคง จากการที่สงขลาอยู่ติดกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบอยู่ในขณะนี้ การที่คนทุกกลุ่มความเชื่อในสงขลามีความสามัคคีปรองดองกัน ได้รับรู้เรื่องราวในอดีตที่ทุกคนร่วมกันสร้างบ้านเมือง จะเป็นตัวอย่างให้กับเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าคนไทยทุกกลุ่มความเชื่อ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน สร้างจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เหมือนกับคนไทยในส่วนอื่นของประเทศ

ด้านศักดิ์ศรีของประเทศ จากการที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองมรดกโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และแต่ละเมืองก็ได้รับประโยชน์ทั้งในด้านการอนุรักษ์และเศรษฐกิจ ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้นำอาเซียน และมีแหล่ง หรือเมืองที่มีศักยภาพที่จะผลักดันให้เป็นเมืองมรดกโลกได้ ถ้าเราอยู่เฉย ๆ ก็จะถูกเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเวทีนานาชาติ ดังนั้น การพัฒนาให้สงขลาเป็นเมืองมรดกโลกเช่นเดียวกับปีนัง หรือเมืองอื่น ๆ ในอาเซียน เป็นการยกมาตรฐานของเมืองให้สูงขึ้นหลายด้าน ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การศึกษา เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนที่อาศัยอยู่ในเมือง และเกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ติดตามมา บางท่านอาจจะกังวลว่าถ้าเป็นเมืองมรดกโลกแล้วจะถูกบังคับ ถูกจำกัดสิทธิ จะสิ้นเปลืองในการดูแลรักษาทรัพย์สินต่าง ๆ หรือแม้แต่จะต้องอยู่ในการบังคับบัญชาของยูเนสโกนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่าการดูแลเมืองมรดกโลกนั้นเป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของประเทศไทย ยูเนสโกไม่สามารถออกคำสั่งหรือมีอำนาจบังคับให้เราปฏิบัติตามในสิ่งที่เราไม่อยากทำเพียง แต่เราต้องดำเนินการตามแนวทางที่เราได้ให้คำมั่นไว้กับเขาเท่านั้นเองว่าจะดูแลมรดกของเราอย่างไร

สำหรับเรื่องของการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “เมืองท่าและเส้นทางการค้าทางทะเลแห่งเอเชีย 2562” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าต่าง ๆ ในทวีปเอเชียที่เป็นเมืองท่าสำคัญในเส้นทางการเดินทางทะเล ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และเปรียบเทียบกับเมืองเก่าสงขลา ที่เป็นเมืองท่าบนเส้นทางการค้าทางทะเลกับต่างประเทศมานานนับพันปี , เพื่อเผยแพร่ศักยภาพของเมืองเก่าสงขลา ในการยกระดับไปสู่การเป็นเมืองมรดกโลกเช่นเดียวกับเมืองท่าอื่น ๆ หลายเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ปีนัง มะละกา ฮอยอัน เป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา ให้มีความสมดุลในมิติทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน กลุ่มประเทศอาเซียนประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย และองค์กรระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศจีน ซึ่งเรามีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีน 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง และมหาวิทยาลัยหัวเฉียว

โดยปีนี้ ทั้งสามมหาวิทยาลัยนำคณาจารย์และนักศึกษามาจัด Workshop ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สถาบันอาศรมศิลป์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อช่วยกันออกแบบเมืองเก่าสงขลาให้เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นปีที่ 2 ซึ่งผลงานของนักศึกษาที่ได้มาทำในปีที่แล้วน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพื่อตอกย้ำความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของจังหวัดสงขลา ในฐานะที่เป็นเมืองท่าที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ในเส้นทางการค้าทางทะเลของเอเชีย ตั้งแต่ยุค “เส้นทางสายไหม” จนถึงปัจจุบัน ที่สงขลาอยู่ในแนวการขนส่งทางทะเลตามโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน ถ้าเราย้อนดูในอดีต สงขลากับจีนเดินเรือไปมาหาสู่กันนับพันปี จากเมืองสทิงพระไปเมืองฉวนโจว จากเมืองสงขลาไปเมืองไห่เฉิง เมืองเซี่ยเหมิน เมืองซัวเถา และเมืองกวางโจว ทำให้มีคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองสงขลาเป็นจำนวนมาก นำวัฒนธรรมและความรุ่งเรืองทางการค้ามาสู่เมืองสงขลา แม้ในปัจจุบันการเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างสงขลากับจีนยังไม่คึกคักเท่าในอดีต เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเพิ่มการเชื่อมโยงระหว่างกันให้มากขึ้นในอนาคต พร้อมขอเชิญชวนพี่น้องชาวสงขลาทุกคน ร่วมมือช่วยกันรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่าของเรา ส่งต่อให้กับลูกหลานอย่างภาคภูมิ

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการกล่าวสุนทรพจน์ มีการจัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้สนับสนุนการจัดงานประชุมวิชาการ “เมืองท่าและเส้นทางการค้าทางทะเลแห่งเอเชีย 2562” จำนวน 8 ราย โดย ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

สุธิดา พฤกษ์อุดม / ข่าว สวท.สงขลา

 

Short URL: http://www.samilatimes.co.th/?p=47063

แสดงความคิดเห็น

Share It

ความคิดเห็นล่าสุด

ข่าวมาใหม่

Find Us